SHORT CUT
นักวิจัยชี้ ครีมกันแดดอาจมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล ทำให้ปะการังฟอกขาวและความอุดมสมบูรณ์ของปลาลดลง โดยจำเป็นต้องศึกษาอย่างเร่งด่วน
บทวิเคราะห์ที่ตีพิมพ์โดยวารสาร Marine Pollution Bulletin ได้พิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับครีมกันแดด, สารกรองแสง UV, ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และพิษวิทยาของสารดังกล่าว ก่อนได้ข้อสรุปว่า แนวปะการังเพียงแห่งเดียวต้องรับผลจากสารกรองแสง UV มากกว่า 6,000 - 14,000 ตันต่อปี ทำให้พวกเขาต้องเน้นยำความสำคัญที่จะศึกษาผลกระทบจากครีมกันแดดต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลให้มากขึ้นอย่างเร่งด่วน
รายงานระบุว่า ครีมกันแดดมีส่วนประกอบที่เรียกว่า "สารเคมีชั่วนิรันดร์" ซึ่งถูกนำมาใช้ในการปิดกั้นรังสียูวี (UV) ของดวงอาทิตย์ ซึ่งอาจเป็นตัวการที่ทำให้ปะการังฟอกสี ผิดรูปร่าง หรือทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของปลาลดลง
ขณะที่ตลาดครีมกันแดดทั่วโลกกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยคาดการณ์ว่ายอดขายจะสูงถึง 13,600 ล้านดอลลาร์ในปี 2028ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถูกชะล้างลงสู่มหาสมุทรทั่วโลกในปริมาณที่สูงอย่างน่าประหลาดใจ โดยหากสมมติว่ามีการชะล้างออกไป 50% ต่อการทาครีมกันแดดของหนึ่งคนในปริมาณราว 36 กรัม ก็จะพบว่าชายหาดที่มีนักท่องเที่ยว 1,000 คนอาจทำให้มีมวลสารเคมีไหลลงสู่มหาสมุทรถึง 35 กก.
สิ่งที่น่ากังวลเป็นพิเศษก็คือ สารประกอบเหล่านี้ถือเป็น ‘มลพิษที่คงอยู่ตลอดไป’ หลังจากมันถูกปล่อยลงสู่สิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างต่อเนื่อง เราจึงจำเป็นต้องเข้าใจจริงๆ ว่าสารเคมีเหล่านี้มีปฏิกิริยากับสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างไร มีศักยภาพที่จะสะสมในห่วงโซ่อาหารหรือไม่
โดยสารประกอบที่พบมากที่สุดในสารกรอง UV คือเบนโซฟีโนน ซึ่งมีความเป็นพิษและสามารถสะสมในร่างกายของสิ่งมีชีวิตได้ ส่วนเบนโซฟีโนน-3 ซึ่งเป็นสารเคมีที่มักพบในครีมกันแดดและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง กำลังอยู่ระหว่างการสอบสวนโดยหน่วยงานสารเคมีแห่งยุโรปว่า อาจเป็นสารที่รบกวนฮอร์โมนของมนุษย์หรือไม่