พลาสติกในทะเลอาจเป็นแค่จุดเริ่มต้น เมื่องานวิจัยล่าสุดพบว่าสัตว์ทะเลบางชนิดเมื่อกิน 'ไมโครพลาสติก' เข้าไปแล้ว จะขับถ่ายออกมาเป็นสิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่าเดิม
ที่ผ่านมาเราต่างเข้าใจกันว่า 'ไมโครพลาสติก' คือสิ่งที่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศ โดยเฉพาะสัตว์ทะเลที่กินมันเข้าไปโดยไม่ตั้งใจ แต่งานวิจัยล่าสุดได้เปิดเผยข้อมูลที่สร้างความกังวลต่อบรรดานักวิทยาศาสตร์ เมื่อพวกเขาพบว่าสัตว์ทะเลบางชนิด เช่น 'แอสซิเดียน' (ascidians) กำลังจะสร้างวงจรที่เลวร้ายจากการกินไมโครพลาสติก
ข้อมูลดังกล่าวได้มาจากห้องปฏิบัติการวิจัยที่มีการจำลองสภาพของมหาสมุทรขึ้นมา ด้วยการใช้ประโยชน์จากสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลที่ชื่อว่า 'แอสซิเดียน' ก่อนจะมีการนำไมโครพลาสติก 2 ประเภทมาใช้ ได้แก่ โพลิสไตรีน (PS) ซึ่งเป็นพลาสติกทั่วไป และโพลิแลกติกแอซิด (PLA) ซึ่งย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เพื่อสังเกตุกระบวนการย่อยของแอสซิเดียนที่กินไมโครพลาสติกดังกล่าว รวมถึงการขับถ่ายหลังจากนั้น
พวกเขาพบว่า แอสซิเดียนสามารถกำจัดไมโครพลาสติกทั้งสองชนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพถึง 90% ภายในเวลา 2 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม พลาสติกเหล่านี้จะถูกปล่อยกลับคืนสู่แหล่งน้ำภายหลังการย่อย และถูกเปลี่ยนให้เป็น 'อนุภาคพลาสติก' ที่มีขนาดเล็กกว่าเดิมจนแทบไม่สามารถตรวจพบได้ ทั้งยังถูกเคลือบด้วยสารเคลือบมูลของสัตว์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
นักวิจัยคาดว่า การที่ 'อนุภาคพลาสติก' ดังกล่าวถูกเคลือบด้วยสารเคลือบมูลของแอสซิเดียน จะทำให้มันไม่สามารถถูกระบุว่าเป็นพลาสติก แต่ถูกมองเป็นสารอินทรีย์ที่มีโอกาสจะถูกกินโดยสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ทำให้มีพลาสติกฝังตัวในห่วงโซ่อาหารมากขึ้น สารเคลือบมูลยังส่งผลให้มีแบคทีเรียเติบโดบนพลาสติกจนกลายเป็นพาหะของสารพิษและโรคต่างๆ ได้
งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่ามลภาวะจากไมโครพลาสติกมีความซับซ้อนมากกว่าที่เราเคยเข้าใจ ก่อให้เกิดผลที่คาดไม่ถึงต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล แทรกซึมเข้าไปในระบบนิเวศทำลายห่วงโซ่อาหาร และทำร้ายสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหานี้ เราจึงจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ที่ดีกว่าซึ่งรวมถึงการสร้างระบบการจัดการขยะและวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยไม่สร้างไมโครพลาสติกที่เป็นอันตราย