SHORT CUT
ผงสีชมพูที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯใช้คุมไฟป่าในลอสแองเจลิสคืออะไร? ช่วยดับไฟได้มากน้อยแค่ไหน และสารเคมีนั้น หากสาดไปแล้วจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า?
ในขณะที่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงสหรัฐฯ กำลังต่อสู้กับไฟป่าครั้งรุนแรงในนครลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ด้วยวิธีการต่าง ๆ ก็มีภาพเครื่องบินโปรยสารหน่วงไฟเพื่อสกัดการลุกลามของเปลวเพลิง แต่หลายฝ่ายก็ตั้งข้อสงสัยว่าสารหน่วงไฟที่มีสีสันสดใสเหล่านี้คืออะไรและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร
หลายคนคงได้เห็นภาพเครื่องบินโปรยผงสีแดงและชมพูสดใสลงมาในย่านชานเมืองลอสแอนเจลิสในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ในขณะที่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงระดมกำลังกันเร่งทำงานแข่งกับเวลาในการต่อสู้กับไฟป่าที่เผาผลาญทำลายล้างอาคารสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง
สารหน่วงไฟสีสันสะดุดตาเหล่านี้กำลังปกคลุมทั่วท้องถนน หลังคาบ้านและรถยนต์ในพื้นที่ภัยพิบัติทางธรรมชาติ หลังเจ้าหน้าที่โปรยสารเคมีหลายพันแกลลอนลงมาด้านล่างในสัปดาห์ก่อน เพื่อหยุดยั้งเปลวเพลิงของไฟป่าไม่ให้ลุกลาม แต่จริง ๆ แล้วมีอะไรอยู่ในนั้นและสารดังกล่าวช่วยเจ้าหน้าที่ดับเพลิงต่อสู้กับไฟป่าได้อย่างไร?
สารหน่วงไฟดังกล่าว คือ ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อว่า “ฟอส-เช็ก” (Phos-Chek) จำหน่ายโดยบริษัทเพอริมิเตอร์ (Perimeter)
สารหน่วงไฟนี้ถูกใช้ในการต่อสู้กับเหตุเพลิงไหม้ต่างๆในสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ปี 1963และเป็นสารหน่วงไฟหลักที่สำนักงานป่าไม้และป้องกันอัคคีภัยของรัฐแคลิฟอร์เนีย ใช้งานเป็นการระยะยาว ขณะเดียวกันยังเป็นสารหน่วงไฟที่มีการใช้งานมากที่สุดในโลก ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี เมื่อปี 2022
อย่างไรก็ตาม บริษัทเพอริมิเตอร์ (Perimeter) ที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาสารหน่วงไฟดังกล่าวเคยแนะนำให้ทำความสะอาดผงเหล่านี้ออกทันทีที่ปลอดภัยจากไฟป่า เนื่องจากยิ่งสารหน่วงไฟแห้งติดพื้นผิวต่าง ๆ เป็นเวลานานเท่าไหร่ ก็จะยิ่งยากต่อการขจัดออกมากขึ้นเท่านั้น
“เพอริมิเตอร์” ระบุว่า น้ำอุ่นและผงซักฟอกสูตรอ่อนมีประสิทธิภาพในการขจัดคราบที่อยู่บนพื้นผิวขนาดเล็ก และสำหรับพื้นผิวขนาดใหญ่ สามารถใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดคราบของผงดังกล่าวออกได้
ขณะที่สูตรที่แน่ชัดของสารหน่วงไฟ “ฟอส-เช็ก” (Phos-Chek) นั้นไม่มีการเปิดเผยสู่สาธารณะ แต่บริษัทเพอริมิเตอร์เคยชี้แจงในหนังสือชี้ชวนก่อนหน้านี้ว่า ผลิตภัณฑ์ของบริษัทประกอบด้วยน้ำ 80% เกลือชนิดที่ใช้ในปุ๋ย 14% สารแต่งสีและสารยับยั้งการกัดกร่อน 6%
ในส่วนของสีสารหน่วงไฟที่มีความสดใส บริษัทกล่าวว่า เพื่อช่วยในการมองเห็นของนักบินและนักดับเพลิง แต่สีจะค่อย ๆ จางลงจนเป็นสีเอิร์ธโทนหลังจากโดนแดดไม่กี่วัน
ทั่วไปแล้ว นักดับเพลิงจะฉีดสารหน่วงไฟลงรอบ ๆ ไฟป่า บนต้นไม้ใบหญ้าและที่ดินที่เสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้เพื่อป้องกันไม่ให้เปลวไฟลุกลามไปยังพื้นที่นั้น ๆ
ข้อมูลจากหน่วยงานบริการป่าไม้ของสหรัฐฯ (US Forest Service) ระบุว่า สารหน่วงไฟช่วยชะลออัตราการกระจายของเปลวไฟโดยการหล่อเย็นและการเคลือบเชื้อเพลิงเอาไว้ ทำให้ออกซิเจนซึ่งเป็นองค์ประกอบของไฟหมดลง และทำให้อัตราการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงช้าลง เนื่องจากเกลืออนินทรีย์ของสารหน่วงไฟเข้าไปเปลี่ยนวิธีการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง
อย่างไรก็ตาม การใช้งานสารหน่วงไฟดังกล่าวเป็นประเด็นถกเถียงในอดีตเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม
การใช้สารหน่วงไฟเหล่านี้นำไปสู่การฟ้องร้องในปี 2022 โดยพนักงานหน่วยงานบริการป่าไม้เพื่อจริยธรรมสิ่งแวดล้อม (Forest Service Employees for Environmental Ethics) องค์กรที่ประกอบด้วยพนักงานปัจจุบันและอดีตพนักงานของหน่วยงานบริการป่าไม้สหรัฐฯ ซึ่งกล่าวหาหน่วยงานรัฐบาลกลางว่าละเมิดกฎหมายน้ำสะอาดของประเทศด้วยการทิ้งสารเคมีหน่วงไฟจากเครื่องบินลงบนป่า โดยแย้งว่า สารเคมีฆ่าปลาในแหล่งน้ำ แต่ไม่ได้ผล
อย่างไรก็ตาม ในปีต่อมา ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นของสหรัฐฯ เห็นพ้องกับพนักงาน แต่พิจารณาอนุญาตให้หน่วยงานใช้สารหน่วงไฟต่อไปได้ โดยต้องขอใบอนุญาตจากสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ (EPA) เสียก่อน
คดีนี้ดึงดูดความสนใจของชุมชนที่ได้รับความเสียหายจากไฟป่าในอดีต รวมถึง เมืองพาราไดซ์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งถูกทำลายล้างด้วยไฟป่าในปี 2018 โดย “เกร็ก โบลิน” นายกเทศมนตรีในขณะนั้น ยกย่องคำตัดสินของพิพากษา พร้อมระบุว่า จะทำให้ชุมชนมีโอกาสต่อสู้เมื่อเผชิญกับไฟป่า
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานบริการป่าไม้ของสหรัฐฯ (US Forest Service) เปิดเผยกับสำนักข่าว NPR ว่าในปีนี้ได้ยุติการใช้สารหน่วงไฟ “ฟอส-เช็ก” (Phos-Chek) สูตร “ฟอส-เช็ก แอลซี 95” (Phos-Chek LC95) แล้ว โดยเปลี่ยนไปเป็นสูตร “เอ็มวีพี-เอฟเอ็กซ์” (MVP-Fx) แทน เนื่องจากสูตรหลังกระทบสัตว์ป่าน้อยกว่า
นอกจากนี้ทางหน่วยงานยังมีคำสั่งห้ามทิ้งสารหน่วงไฟในพื้นที่สิ่งแวดล้อมที่มีความละเอียดอ่อน เช่น ทางน้ำและแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ยกเว้นในกรณีที่ไฟป่ารุนแรงในระดับที่เข้าข่ายเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตมนุษย์หรือความปลอดภัยของสาธารณชน
ที่มาข้อมูล