SHORT CUT
ไทยเตรียมจัด Field day งดการเผา แก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ชาวนายุคใหม่ ใส่ใจสุขภาพ ลดและงดการเผาตอซัง ฟางข้าว และเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และเพื่อการผลิตข้าวที่ยั่งยืน
ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของไทยอาการน่าเป็นห่วง หลายพื้นที่ฝุ่นปกคลุม จึงทำให้หลายฝ่ายกำลังช่วยกันแก้ไขปัญหา นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่าจากการแถลงนโยบาย หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มกราคม ที่ผ่านมา ในประเด็นมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 นั้น กรมการข้าว สนองนโยบายฯ เตรียมจัดงานถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field day)
“ชาวนายุคใหม่ ใส่ใจสุขภาพ…..ลดและงดการเผาตอซัง ฟางข้าว และเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และเพื่อการผลิตข้าวที่ยั่งยืน“ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 17 มกราคม 2568 ณ ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่
ทั้งนี้งานถ่ายทอดเทคโนโลยีฯ ดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตข้าวอย่างปลอดภัยด้วยการจัดการตอซังและฟางข้าว ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อปลอดการเผา และผลิตข้าวอย่างยั่งยืน ให้แก่เกษตรกรกลุ่มนาแปลงใหญ่ ศูนย์ข้าวชุมชน smart farmer ชาวนาอาสา และผู้นำองค์กรชาวนา ได้รับรู้ถึงผลกระทบจากการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร
ส่วนวิธีการกำจัดเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ตลอดจนให้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการงดเผาตอซังและผลิตข้าวอย่างปลอดภัย เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จนเกินค่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อด้านสุขภาพและการท่องเที่ยว ซึ่งหากร่วมสร้างจิตสำนึกในการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ให้เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดการเผา ซึ่งจะสามารถช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ฟื้นฟูเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวได้เพิ่มมากขึ้น
โดยกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การจัดนิทรรศการภายใต้หัวข้อ “ชาวนายุคใหม่ ใส่ใจสุขภาพ…ลดและงดการเผาตอซัง ฟางข้าว และเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อการผลิตข้าวที่ยั่งยืน” เพื่อสร้างความเข้าใจในการกำจัดเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ลดหรืองดการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น การใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายตอซัง การใช้เครื่องอัดฟาง การใช้ประโยชน์ตอซังและฟางข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่า ตลอดจนการจัดกิจกรรมแสดงและสาธิต เช่น การแสดงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากฟางข้าว การสาธิตการใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังให้เหมาะสมและถูกต้อง
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากรมการข้าว ไม่ได้นิ่งนอนใจกับสถานการณ์ค่าฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่า ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการที่เกษตรกรเผาฟางข้าว จึงมอบหมายให้สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ คิดค้นเทคโนโลยีที่ช่วยให้เกษตรกรไม่เผาฟาง จึงได้คิดค้นจุลินทรีย์ชีวภัณฑ์ที่ช่วยในการย่อยสลายตอซัง และฟางในนาข้าว โดยมีประสทธิภาพสามารถย่อยสลายได้ภายใน 7-10 วัน อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มปริมาณธาตุอาหารให้กับนาข้าว ลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้สูงสุด 20% - 30% เพื่อให้เกษตรกรหยุดการเผาไร่นา เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ได้อีกทางหนึ่ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ค่าฝุ่น PM 2.5 กทม. วันนี้ จมฝุ่นอันดับ 9 ของโลก หนองแขมระดับสีแดง 2 วันติด
วิจัยชี้ สูดฝุ่น PM 2.5 ทั้งวัน = สูบบุหรี่ 2 ตัว หนีได้หนี เลี่ยงได้ขอให้เลี่ยง
ค่าฝุ่น PM 2.5 วันนี้ กทม.จมฝุ่นอันดับ 8 ของโลก หนองแขมสูงสุด ระดับสีแดง