svasdssvasds

6 อันดับ แผ่นดินไหวที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุด นับตั้งแต่ปี 1950

6 อันดับ แผ่นดินไหวที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุด นับตั้งแต่ปี 1950

นี่คือ 6 แผ่นดินไหวที่คร่าคนมากที่สุด นับตั้งแต่ปีค.ศ. 1950 ผลกระทบที่เกิดจากเหตุการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ ทำให้เกิดความโศกเศร้าทั่วโลก ที่ต้องเสียคนที่รักไป

จากการคาดการณ์ของนักวิชาการหลายท่านทั่วโลกที่บอกตรงกันว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะทำให้ปีต่อ ๆ ไปเกิดภัยพิบัติรุนแรงมากขึ้น ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายพื้นที่ทั่วโลกเกิดภัยพิบัติมากมายและรุนแรงขึ้นจริง ๆ  ไม่ว่าจะเป็น น้ำท่วม ไฟป่า ฝนฟ้าคะนองรุนแรง พายุ ภูเขาไฟปะทุ สึนามิ แผ่นดินไหว ฯลฯ จนสร้างสถิติรุนแรงเป็นประวัติการณ์ในหลายประเทศ

เมื่อกล่าวถึงสถิติ และสืบเนื่องจากเปิดปี 2025 มา ก็เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงขึ้นที่ทิเบตและเนปาล ส่งให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อย สปริงนิวส์ในคอลัมน์ Keep The World จึงอยากพาย้อนดู 6เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด นับตั้งแต่ปีค.ศ. 1950 โดยอ้างอิงจากการรวบรวมของ Britannica

6 อันดับ แผ่นดินไหวที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุด นับตั้งแต่ปี 1950

อันดับ 6 แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเปรู (1970)

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ปีค.ศ.1970 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.9 นอกชายฝั่งของเปรู ทำให้เกิดดินถล่มครั้งใหญ่ ส่งผลให้อาคารหลายแห่งพังถล่มลงมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 70,000 คน โดยดินถล่มที่สร้างความเสียหายมากที่สุด มาจากภูเขาฮัวสกราน ภูเขาที่สูงที่สุดของเปรู ตั้งอยู่ในเทือกเขาแอนดีส

อันดับ 5 แผ่นดินไหวในแคชเมียร์ (2005)

แผ่นดินไหวขนาด 7.6 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2005 ในพื้นที่แคชเมียร์ที่อยู่ภายใต้การปกครองของปากีสถานและในเขตชายแดนตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถาน นอกจากนี้แรงสั่นสะเทือนยังกระทบต่อพื้นที่ใกล้เคียงอย่างอินเดียและอัฟกานิสถานอีกด้วย มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 79,000 คนและมีอาคารบ้านเรือนมากกว่า 32,000 หลังพังทลายลงมา (ผู้เสียชีวิตนี้ยังไม่นับรวมในอินเดียและอัฟกานิสถาน) นอกจากนี้ เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ผู้รอดชีวิตหลายแสนคนรอดมาได้แต่ก็ต้องเผชิญหน้ากับสภาพอากาศที่หนาวเย็นไปพร้อมกัน

แผ่นดินไหวแคชเมียร์ 2005 Cr.Wiley Thompson/NASA

อันดับ 4 แผ่นดินไหวเสฉวน ประเทศจีน (2008)

แผ่นดินไหวเสฉวนเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ปีค.ศ. 2008 ได้คร่าชีวิตผู้คนไปเกือบ 90,000 คน บาดจเบอีก 375,000 ราย และทำให้ผู้คนนับ 5,000,000 คนไร้บ้าน  พื้นที่ของเมืองเป่ยชวนมากกว่าครึ่งถูกทำลายและเกิดการทะลักท่วมจากทะเลสาบใกล้เคียง โดยศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่ที่เมืองเหวินชวน ซึ่งอยู่ห่างจากเฉิงตูไปประมาณ 100 กิโลเมตร

อันดับ 3 สึนามิมหาสมุทรอินเดีย กระทบ 13 ประเทศ (2004)

วันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ.2004 นอกชายฝั่งเกาะสุมาตราของประเทศอินโดนีเซีย เกิดแผ่นดินไหวใต้มหาสมุทรอินเดียขนาด 9.1 และใน 7 ชั่วโมงต่อมาก็ได้ก่อเกิดคลื่นสึนามิแผ่นขยายไปทั่วมหาสมุทรอินเดีย ทำลายล้างชายฝั่งไปไกลถึงแอฟริกาตะวันออก รวมทั้งสิ้น 13 ประเทศ ตั้งแต่อินโดนีเซีย ศรีลังกา อินเดีย มัลดีฟส์ รวมถึงไทย ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก และคร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 230,000 ราย ซึ่งทางการอินโดนีเซียประเมินว่า ผู้เสียชีวิตในประเทศตนเพียงประเทศเดียว ก็มีมากกว่า 200,000 รายแล้ว โดยเฉพาะจังหวัดอาเจะห์ ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา

หลังสึนามิสงบ ประเทศอินโดนีเซีย Cr.Reuters

อันดับ 2 แผ่นดินไหวถังซาน ประเทศจีน (1976)

แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ของถังซาน ประเทศจีน เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ.1976  ด้วยความรุนแรง 7.5 ริกเตอร์ เกือบทำลายเมืองถังซานทั้งเมืองราบเป็นหน้ากลอง ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมและเหมืองถ่านหินสำคัญของประเทศจีน ห่างจากกรุงปักกิ่ง 110 กิโลเมตร ทางการรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการ 242,000 ราย (มีการคาดการณ์ว่าตัวเลขไม่เป็นทางการ อาจมีผู้เสียชีวิตพุ่งไปถึง 655,000 คน) มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 700,000 คน เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นขณะผู้คนกำลังหลับไหล และโครงสร้างของที่พักอาศัยไม่ค่อยแข็งแรง

อันดับ 1 แผ่นดินไหวในเฮติปี (2010)

ในช่วงเย็นของวันที่ 12 มกราคม ปี 2010 แผ่นดินไหวขนาด 7.0 และอาฟเตอร์ช็อกที่เกิดขึ้นอีกหลายครั้ง ได้ทำลายล้างเขตมหานครปอร์โตแปรงซ์ เมืองหลวงของเฮติ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปประมาณ 300,000 คน และมีผู้รอดชีวิตอีกประมาณ 1,500,000 คน แต่ก้ต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน ไม่มีที่อยู่อาศัย

แผ่นดินไหวเฮติ ปี 2010 Cr.U.S. Navy; photograph, Mass Communication Specialist 2nd Class Justin Stumberg

อย่างไรก็ตาม ยังมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงที่เกิดขึ้นอีกหลายครั้ง หลายแห่งทั่วโลก ทั้งก่อนและหลังปีค.ศ. 1950 ที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย ตามรายงานจากอีกหลากหลายแหล่งข้อมูล แต่ในอนาคต ปรากฎการณ์เหล่านี้จะยังคงมีอยู่ ซึ่งจะรุนแรงขึ้นหรือทุเลาลงก็ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศแปรปรวนว่าจะไปกระตุ้นมากน้อยแค่ไหน และเราเองก็สามารถช่วยลดอัตราเสี่ยงนั้นได้ ด้วยการช่วยกันทำให้โลกร้อนน้อยลง

ที่มาข้อมูล

Britannica

related