นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นในแอฟริกา หลังภัยพิบัติธรรมชาติต่างๆ ได้กลายเป็นตัวแปรที่ทำให้ทวีปแอฟริกาแตกออกจากกันเร็วขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การก่อตัวของมหาสมุทรแห่งใหม่ในอนาคต
นักวิทยาศาสตร์ต่างกำลังจับตาความเคลื่อนไหวของรอยแยกแอฟริกาตะวันออก ที่เป็นรอยแยกขนาดใหญ่บนพื้นผิวโลก ทอดยาวจากโมซัมบิกทางใต้ไปจนถึงทะเลแดงทางเหนือ ซึ่งกลายเป็นจุดที่เปลือกโลกภาคพื้นทวีปกำลังแตกออกจากกัน และจะนำไปสู่การก่อตัวของมหาสมุทรแห่งใหม่ในที่สุด
พวกเขาประเมินว่า แผ่นเปลือกโลกในภูมิภาคนี้ ซึ่งได้แก่ แผ่นเปลือกโลกแอฟริกาและแผ่นเปลือกโลกโซมาเลีย กำลังเคลื่อนตัวออกจากกันด้วยอัตราประมาณ 0.8 เซนติเมตรต่อปี แม้อาจจะดูช้าเมื่อเทียบกับมาตรฐานของมนุษย์ แต่ก็คาดการณ์ได้ว่ามหาสมุทรแห่งใหม่จะเกิดขึ้นภายในเวลาประมาณ 1 ล้านปี
อย่างไรก็ตาม การเกิดภัยพิบัติอย่างแผ่นดินไหวที่รุนแรงขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลให้การเคลื่อนตัวของรอยแยกที่ปกติใช้เวลานานนับศตวรรษ แต่กลับเกิดขึ้นได้ภายในเวลาไม่กี่วัน ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องประเมินกันใหม่เกี่ยวกับระยะเวลาของกระบวนการทางธรณีวิทยาในบริเวณนี้ ที่อาจกลายเป็นมหาสมุทรอย่างรวดเร็วมากกว่าเดิม
การก่อตัวของแอ่งมหาสมุทรแห่งนี้จะเปลี่ยนแปลงภูมิศาสตร์ของแอฟริกาเป็นอย่างมาก ทำให้ประเทศที่เดิมไม่มีทางออกสู่ทะเล เช่น แซมเบียและยูกันดา อาจได้แนวชายฝั่งซึ่งเปิดช่องทางการค้าใหม่ๆ และปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจของพวกเขา ในเวลาเดียวกัน แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลก็จะพัฒนาขึ้นในน่านน้ำแห่งใหม่ ส่งผลให้ระบบนิเวศในท้องถิ่นเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ยังนำมาซึ่งความท้าทายในการบบริหารทรัพยากรอีกด้วย โดยการจัดการที่ดินและโครงสร้างพื้นฐานชายฝั่งจะต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างมากเมื่อมีแนวชายฝั่งใหม่เกิดขึ้น รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการเกิดมหาสมุทรใหม่จะต้องได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อปกป้องระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม