svasdssvasds

'จุดดอกไม้ไฟ' ทำร้ายโลกมากกว่าที่คิด มีทางเลือกที่ดีกว่าหรือไม่?

'จุดดอกไม้ไฟ' ทำร้ายโลกมากกว่าที่คิด มีทางเลือกที่ดีกว่าหรือไม่?

พลุหรือดอกไม้ไฟนับเป็นหนึ่งในสัญลักกษณ์ของการเฉลิมฉลองที่จะถูกจุดขึ้นอยู่ท้องฟ้าอย่างยิ่งใหญ่อลังการในทุกปี แต่รู้หรือไม่ว่านอกจากความสวยงามที่เราได้ชมเพียงชั่วครู่แล้ว การจุดดอกไม้ไฟแต่ละครั้ง สร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง

สารเคมีและมลพิษ
ดอกไม้ไฟทำมาจากส่วนผสมของสารออกซิไดเซอร์ เชื้อเพลิง และสารเติมแต่ง เช่น สารที่ทำให้เกิดสีหรือควัน ซึ่งจะถูกปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมในระหว่างการใช้งาน ทั้งยังปล่อยก๊าซโลหะหนักและอนุภาคขนาดเล็กที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 สู่บรรยากาศ โดยการศึกษาวิจัยพบว่าดอกไม้ไฟสามารถเพิ่มมลพิษในอากาศได้ถึง 42% และเพิ่ม PM2.5 ได้ถึง10 เท่า ซึ่งโลหะหนักและมลพิษบางชนิดนับเป็นสารก่อมะเร็งที่อันตรายต่อระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ด้วย

ไมโครพลาสติก
ผลกระทบจากดอกไม้ไฟยังรวมถึงบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เช่น กระดาษแข็ง ฟิวส์ที่ไหม้เกรียม และขยะพลาสติก ซึ่งจากการศึกษาพบว่ามีไมโครพลาสติกในแม่น้ำเทมส์ของอังกฤษเพิ่มขึ้น 1,000% ในระยะเวลาหกชั่วโมงหลังจากการแสดงดอกไม้ไฟส่งท้ายปีเก่าเมื่อช่วงปลายปี 2020 เข้าสู่ปี 2021

สัตว์เลี้ยง สัตว์ป่า และระบบนิเวศ
เสียงระเบิดจากการจุดดอกไม้ไฟยังก่อให้เกิดความเครียดต่อสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยง โดยการศึกษาวิจัยพบว่ามีสัตว์หลายชนิด ทั้งหมา แมว รวมถึงม้า ที่จะมีปฏิกิริยาเชิงลบต่อเสียงของดอกไม้ไฟ และมักตอบสนองด้วยการวิ่งเตลิดเพราะความหวาดกลัว ในขณะที่นกมักจะแสดงอาการบินไม่ปกติและอาจมีรูปแบบการผสมพันธุ์ที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม

ดอกไม้ไฟยังสามารถทำให้เกิดไฟไหม้ป่า ภัยพิบัติที่ทำลายระบบนิเวศอย่างรุนแรงที่สุด โดยในปี 2022 การจุดดอกไม้ไฟในสหรัฐฯ ได้ก่อให้เกิดไฟไหม้ป่ามากถึง 31,302 ครั้ง โดยครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นในแคลิฟอร์เนียซึ่งกินพื้นที่กว่า 1,200 ไร่ สร้างความเสียหายสูงถึง 10 ล้านดอลลาร์ หรือราว 340 ล้านบาท

ทางเลือกที่ดีกว่า
ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น ทำให้หลายประเทศเริ่มลดการแสดงดอกไม้ไฟ และหันมาใชช้การแสดงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การแสดงแสงเลเซอร์ หรือการบินโดรนจำนวนมากเพื่อสร้างสีสันรูปแบบต่างๆ บนท้องฟ้าได้อย่างน่าทึ่ง 

บางประเทศก็พยายามใช้ดอกไม้ไฟที่มีสารเคมีน้อยกว่า หลีกเลี่ยงส่วนผสมที่เป็นอันตรายในขั้นตอนการผลิต และใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ อย่างไรก็ตาม ดอกไม้ไฟเหล่านี้ยังคงปล่อยมลพิษ เช่น PM2.5 และปล่อยสารเคมีบางส่วนสู่สิ่งแวดล้อม

แน่นอนว่าการจุดดอกไม้ไฟฟยังคงถูกมองเป็นสัญลักษณ์สำคัญในการเฉลิมฉลองเทศกาลต่างๆ ที่มนุษย์คงไม่สามารถยกเลิกได้โดยสมบูรณ์ แต่อย่างน้อยการหลีกเลี่ยงที่จะจุดดอกไม้ไฟเป็นการส่วนตัว และหันไปร่วมงานเฉลิมฉลองขนาดใหญ่ที่มีการจุดดอกไม้ไฟอยู่แล้วแทน ก็สามารถช่วยลดมลพิษและผลกระทบต่อระบบนิเวศไปได้มากเช่นกัน