SHORT CUT
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดแผนรับมือ “ไฟป่า-ฝุ่น PM 2.5” ปี2568 14 กลุ่มป่า จ้างคนเฝ้า 9,000 บาท/เดือน พร้อมตั้งจุด 1,585 จุด เริ่ม 1 ม.ค.-31 พ.ค 68
ปัญหาไฟป่า และหมอกควัน ฝุ่น PM 2.5 ยังวนเวียนเกิดขึ้นในประเทศไทยทุกๆปลายปี และต้นปี จึงทำให้หน่วยงานที่ต้องดูแลรับผิดชอบอย่าง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ต้องเร่งเปิดแผนในการรับมืออย่างต่อเนื่อง อย่างปลายปี2567 เชื่อมโยงไปถึงต้นปี2568 ก็อาจเกิดปัญหานี้ซ้ำซากขึ้นได้เช่นกัน #SPRiNG จะพามาดูแผนรับมือว่าจะมีอะไรบ้าง
พามาดูวิสัยทัศน์หัวหอกใหญ่อย่าง “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า กำลังจะเร่งแก้ไขปัญหา ไฟป่า-ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ 14 กลุ่มป่าที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า โดยกระทรวงทรัพยากรฯ จะเสนอโครงการขับเคลื่อนมาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 เช่น การจัดตั้งจุดเฝ้าระวังโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน จำนวน 1,585 จุด
พร้อมจัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็น และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวัง ควบคุมไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ 14 กลุ่มป่า ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า ซึ่งรายละเอียดต่างๆของโครงการจะมีการเสนอในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 29 พ.ย.2567 ที่จะถึงนี้
ด้าน “อรรถพล เจริญชันษา” อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวเสริมว่า การจัดตั้งจุดเฝ้าระวังจะมีการจ้างชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งจะมีค่าตอบแทนประมาณเดือนละ 9,000 บาท โดยแต่ละจุดจะมีชาวบ้านเฝ้าจุดละ 3 คน ครอบคลุม 2,000 ไร่ แผนงานดังกล่าวจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 พ.ค.2568 ซึ่งจะให้เฝ้าตลอดฤดูไฟ นอกจากนี้ยังมีเงินอุดหนุนให้ชุมชนละ 50,000 บาท รวมกว่า 1,000 กว่าชุมชน ซึ่งมาตรการดังกล่าวนี้จะส่งเสริมให้สู่เป้าหมายในการลดจุดความร้อนให้ได้ 25 % ตามที่คณะกรรมการฯ วางเป้าหมายไว้ก่อนหน้านี้
ขณะที่ “ปรีญาพร สุวรรณเกษ” อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ศูนย์ ศกพ. จะทำหน้าที่เฝ้าระวัง คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นรายสัปดาห์ ซึ่งขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว สถานการณ์ฝุ่นจะเริ่มกลับมา จึงมีการเฝ้าระวังถี่มากขึ้น วันละ 3 ช่วง เช้า กลางวัน เย็น รวมถึงคาดการณ์สถานการณ์ล่วงหน้า 7 วัน กรณีเข้าสู่ภาวะสภาวะวิกฤติของฝุ่นละอองระดับสีแดง ศูนย์ฯ จะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้สถานการณ์ฝุ่นพิษบานปลายมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จากหน่วยงานราชการและเครือข่ายพันธมิตรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการแนะนำการป้องกันตัวเองเพื่อลดผลกระทบสุขภาพจากฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลกับทางกทม. สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งหมด คือ แผนเร่งสกัด “ไฟป่า-ฝุ่น PM 2.5” ใน14 กลุ่มป่า พร้อมจ้างคนเฝ้า ในอัตราค่าจ้าง 9,000 บาท/เดือน จับตาดูว่า ครม.จะเห็นชอบหรือไม่ และถ้าหากเห็นชอบแล้วแผนรับมือนี้จะได้ผลดีมากน้อยเพียงใด?
ที่มา: กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แถลงข่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง