SHORT CUT
รศ.ดร.เจษฎา แนะให้ DNA ปลาหมอคางดำจากประเทศต่างๆในแอฟริกา เช่น กานา โกตดิวัวร์ มาเทียบกับที่ระบาดในไทย ชี้เรื่องนี้ไม่ควรรีบสรุปจบควรต้องไล่จี้หาความจริง
ประเด็นเรื่องปลาหมอคางดำยังเป็นเรื่องที่สังคมอยากทราบว่าที่ระบาดต้นตอที่แท้จริงเป็นอย่างไร แล้วใครจะรับผิดชอบ หลังจากที่ อนุ กมธ.อว. ได้แถลงสรุปผลการศึกษาปลาหมอคางดำ ว่ามีเอกชนเพียงรายเดียว ที่ดำเนินการขออนุญาตเพื่อนำเข้าปลาหมอคางดำเข้ามาในราชอาณาจักร และผลศึกษาบ่งชี้ว่าปลาหมอคางดำที่ระบาดในไทยมีแหล่งที่มาร่วมกัน รวมถึงยังอ้างอิงข้อมูลของ อ.เจษฎา
ล่าสุดทีมข่าวเนชั่นทีวี ได้พูดคุยกับ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นที่ปรึกษาของ อนุ กมธ.อวชุดนี้ ถึงแถลงสรุปผลการศึกษาปลาหมอคางดำที่ นายวาโย อัศวรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน ในฐานะประธานกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้แถลงผลการดำเนินงาน การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พบว่ามีเอกชนเพียงรายเดียว ที่ดำเนินการขออนุญาตเพื่อนำเข้าปลาหมอคางดำเข้ามาในราชอาณาจักรไทย
อ.เจษฎา กล่าวว่า มีส่วนจริงที่บอกว่ามีบริษัทเอกชนเพียงรายเดียวที่ขออนุญาตนำเข้าปลาหมอคางดำเพื่อนำมาวิจัย แต่ปลาตายหมดแล้วไม่สามารถทำวิจัยต่อได้ จึงทำให้หลายคนมองว่าบริษัทเอกชนดังกล่าวคือจุดกำเนิดการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ แต่ตอนนี้ถ้าจะให้สรุปผลแบบรวบรัดก็ยังตัดเรื่องที่มีคนลักลอบนำเข้าปลาแบบที่ไม่ขออนุญาตทิ้งไม่ได้ เพราะในเชิงอุตสาหกรรม ในเชิงผู้เลี้ยงปลาสวยงามหรือปลาแปลกๆทุกคนรู้ดีว่ามีการลักลอบนำเข้ามาสารพัดทางอยู่แล้วแม้จะมีการตรวจสอบแต่ในสมัยนั้นปลาพวกนี้ยังไม่มีกฎหมายห้ามนำเข้า
ทางด้านผลการวิจัย DNA ปลาหมอคางดำ ความจริงแล้วอยากจะได้ DNA ของปลาสมัยที่บริษัทเอกชนนำเข้ามาเมื่อ 10 ปีก่อนมาสกัด DNA เพื่อเทียบว่า DNA ของปลาหมอคางดำในตอนนั้นตรงกับ DNA ของปลาหมอคางดำที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้หรือไม่ เพราะเท่าที่ทราบมาคือบริษัทเอกชนได้นำเข้าปลาหมอคางดำจากประเทศกานา ก็เลยเสนออธิบดีกรมประมงว่ามีอีกทางหนึ่งก็คือ ขอ DNA ปลาหมอคางดำจากประเทศต่างๆในแอฟริกา เช่น กานา โกตดิวัวร์ มาเทียบกับตัวอย่างของปลาหมอคางดำในไทยเพื่อทำสโคปให้แคบลง
สำหรับปลาในประเทศกานาและประเทศโกตดิวัวร์ พันธุกรรมมันจะคล้ายคลึงกัน แต่ถ้าฟันธงว่าเป็นกานาประเทศเดียวก็ไม่ได้ ในขณะนี้เองก็ไม่สามารถบอกได้แน่ชัด ถ้าพูดในเชิงวิทยาศาสตร์จริงๆมันต้องพูดให้กว้างๆ ว่ามันมาจากกลุ่มนี้ กลุ่มพันธุกรรมกานา-โกตดิวัวร์ หรือยังไม่ควรรีบรวบรัดสรุปจบและปักธงว่าเป็นบริษัทเอกชนที่ขออนุญาตนำเข้ามาแต่จะต้องศึกษาหาข้อมูลเพิ่มอย่างละเอียด
ในส่วนของเรื่องที่คณะอนุ กมธ.อว.แถลงว่าไม่มีหลักฐานให้เชื่อได้ว่า 11 บริษัทมีการส่งออกปลาจริง แล้วเป็นช่วงเวลาที่ไทยมีการแพร่ระบาดอยู่แล้ว อ.เจษฎา กล่าวว่า เรื่องการส่งออกปลาหมอคางดำมันมีข้อมูลระบุละเอียดว่าเคยส่งออกกี่ครั้ง ครั้งละกี่ตัว บริษัทชื่ออะไร มีทั้งใช้ชื่อปลาเป็นภาษาไทย ชื่อภาษาอังกฤษ ชื่อทางวิทยาศาสตร์ในการส่งออกก็มี เช่น ชื่อไทยตอนนั้นระบุเป็นปลาหมอสีข้างลายมันคืออีกสปีชีส์หนึ่ง แต่ถ้าชื่อวิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษนั้นชัดเจนมากตามชื่อมัน
จากการสอบสวนในช่วงนั้นคือทุกบริษัทบอกว่าไม่เกี่ยวไม่ได้ส่งออกปลาหมอคางดำเลย เป็นการกรอกข้อมูลผิดบ้าง shipping เป็นคนบอกผิดบ้าง ตรงนี้เป็นเรื่องที่คาใจเพราะมีบางบริษัทส่งออกเป็นร้อยครั้งเป็นอีกประเด็นที่ตัดทิ้งไม่ได้ เพราะถ้าส่งออกได้มากขนาดนี้ก็ต้องตั้งคำถามว่าเพาะเลี้ยงที่ไหนและมีส่วนทำให้ปลาหมอคางดำแพร่ระบาดหรือไม่ เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ไม่ควรรีบสรุปจบควรต้องไล่จี้หาความจริง จะมาบอกว่าการส่งออกมันมีความคาบเกี่ยวเรื่องเวลามันฟังดูย้อนแย้งเขาบอกว่ามันมีการระบาดอยู่แล้วและถ้าส่งออกจริงอันนี้ตอบได้คือเอาตัวที่ระบาดมาเพาะเลี้ยงส่งออกได้ แต่ถ้าคุณไม่ได้ส่งออกตอนนี้เลยก็ต้องชี้แจงให้ได้ว่าส่งออกอะไรกันแน่ แล้วมันก็ต้องย้อนกลับไปที่บอกว่าทำไมในชื่อการส่งออกเป็นชื่อปลาหมอคางดำ มันขึ้นอยู่กับการเลือกแต่เราเลือกเชื่อเขา
ในส่วนตัว อ.เจษฎา มองว่าข้อมูลการส่งออกตรงนี้ยังมีความไม่น่าเชื่อถือ และเป็นสิ่งที่ควรจะต้องไปเจาะอีกเพราะมันเป็นหน้าที่ของทั้งสองส่วน คือ กรมประมงและกรมศุลกากรว่าส่งอะไรออกไปกันแน่ และกรมประมงเองก็มีหน้าที่ไปถามว่าบริษัทได้เพาะเลี้ยงยังไงก่อนส่งออกไป แต่ถ้าคุณชี้แจงไม่ได้ว่า 10 กว่าปีแล้วก็ยังชี้แจงไม่ได้มันก็จะเหมือนกับอีกบริษัทหนึ่งที่บอกว่า 10 กว่าปีแล้ว ปลาตายหมดแล้วฝังไปหมดแล้วมันก็ควรจะให้ความยุติธรรมเท่าเทียมกัน
เรื่องการตรวจสอบหรือตามหาผู้ที่ลักลอบนำเข้าปลาหมอคางดำ อ.เจษฎา บอกว่า จริงๆมันเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและเป็นปัญหาอยู่ในวงการเรื่องของสัตว์ป่าสัตว์คุ้มครองมานานแล้วไม่ใช่แค่เรื่องของปลา ขึ้นอยู่ตั้งแต่ที่ช่องทางการขนส่ง สมมุตินำเข้ามาผ่านทางเครื่องบินสนามบิน ทางด้านของเรือ ผู้นำเข้าแต่ละส่วนต้องช่วยกันดู กรมศุลกากรจะต้องดูแลเรื่องการส่งออก กรมประมงเองก็ต้องดูแลเพราะเป็นส่วนในเรื่องของปลา เราจะเห็นว่ามีสัตว์แปลกๆมาแอบขายตามตลาดนัดสัตว์เป็นจำนวนมากซึ่งต้องไปไล่จับกัน มีตัวปลาหมอคางดำก่อนหน้าปีที่ประกาศปี 60 ตอนนั้นยังไม่ถือว่าเป็นปลาที่ต้องห้าม
แต่พอหลังจากปี 60 ไปแล้ว เมื่อรู้ว่ามันแพร่ระบาดมีปัญหาต่อเกษตรกร ก็ประกาศว่าต้องห้ามนำเข้า ห้ามส่งออก ห้ามเพาะเลี้ยง ฉะนั้นถ้าใครทำอะไรช่วงก่อนหน้านั้นโทษเบามาก หรืออาจจะไม่มีโทษด้วยซ้ำถ้าหากว่าไม่มีการตรวจจับ แล้ววันนี้อย่างที่บอกถ้าหากจะไปไล่หาว่าใครเป็นคนนำเข้านอกจากบริษัทเอกชน ถ้าเกิดหาเจอจริงๆก็อาจจะไม่มีความผิดใดๆ การตรวจสอบตอนนั้นถือว่ายากมากและตอนนั้นยังไม่ผิดกฎหมายมันยังไม่ใช่สัตว์คุ้มครองสัตว์อันตรายที่ห้ามนำเข้า
การที่บอกว่ามีรายงานจากเกษตรกรพบว่ามีการแพร่ระบาดแล้วจะขนาดนั้นแปลว่าจำนวนมันต้องเยอะพอแล้วถึงได้เจอ คำว่าจำนวนเยอะแล้วมันไม่ได้แปลว่าจุดนั้นจะต้องเป็นจุดเริ่มต้นจุดเดียวมันจะเรื่องที่อื่นแล้วมันก็จะมาอยู่ตรงนี้ แล้วมันก็มาเลี้ยงมาเพิ่มจำนวนตรงนี้ก็ได้หรือมันอาจจะอยู่ตรงนี้จริงๆก็ได้
“เราพบว่าในพื้นที่จริงๆแล้วในเขตจังหวัดรอบๆตรงนั้นมันก็มีหลายพื้นที่ที่มีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มันก็ไม่ใช่แค่บริษัทเดียวก็จะกลับไปคำถามเดิมๆแต่ถ้าเราตั้งสมมติฐานหลายๆแบบว่าบริษัทนี้นำเข้ามาแล้วหลุดรอดออกไปแพร่ระบาด กลับตั้งสมมติฐานว่าคนอื่นล่ะนำเข้ามาเพาะเลี้ยงกัน แล้วพอขายได้ขายไม่ได้ก็นำมาทิ้งตามแหล่งน้ำมันก็สามารถนำไปสู่การระบาดได้เหมือนกัน มันก็พูดยากว่ามันเริ่มจากตรงไหน”
กรณีที่อนุ กมธ.อว. บอกว่าพบปลาหมอคางดำใกล้เคียงกับบริเวณฟาร์มวิจัยเป็นที่แรก อาจจะเป็นเพราะปัจจัยแวดล้อมโดยรอบ หรือ บริเวณนั้นมีคนอื่นๆที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และคิดว่าคนกลุ่มนึงจะมีส่วนในการทำให้แพร่กระจายปลาหทอคางดำหรือไม่ โดย อ.เจษฎา มองว่าmปลาหมอคางดำคล้ายกับปลานิล ปลาหมอเทศ มันเป็นสัตว์ที่ต้องการพื้นที่ในการอนุบาลลูกของมัน มันต้องการพื้นที่วางไข่ในการระบาด ซึ่งมักจะพบในที่ที่เคยเพาะเลี้ยงมัน เช่น บ่อปลาเดิมหรือว่าบ่อกุ้งเดิมที่ไม่ได้ใช้เมื่อน้ำมันเข้าไปได้มันก็จะเกิดการเพาะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ได้ ยังมีอะไรที่ต้องไปศึกษาอีกเยอะในทางชีววิทยาก็เหมือนกัน มันก็ค่อนข้างพูดยากว่าเจอตรงนี้แล้วจุดนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นการแพร่ระบาดแน่ๆ
แต่จะมีหลักฐานที่ค่อนข้างชัดขึ้นหลังจากที่ลงพื้นที่สอบสวนกันมากขึ้นปกติจะคิดว่ามันต้องไปตามลำน้ำเรื่อยๆ สมมุติบอกว่าเจอที่ จ.ราชบุรี จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรสงครามมันก็ไปตามตำแหน่งน้ำ แต่พบว่ามันมีการเว้นเป็นช่วงๆเกิดขึ้น มาทางด้านจ.ฉะเชิงเทรา ยังพอมีพอ จ.ชลบุรี หายไปเลย ไปโผล่ที่ จ.ระยอง ไปโผล่ที่ จ.จันทบุรี ซึ่งเมื่อก่อนก็จะงงจะพบไปเรื่อยๆตามริมทะเลและมันอาจจะโดนสัตว์ผู้ล่ากินไปคุณภาพน้ำไม่เหมาะสม
ข้อมูลใหม่ๆพบว่าเหมือนมีการนำปลาไปปล่อยในพื้นที่ต่างๆนานแล้ว แม้มันจะระบาดมาเป็น 10 ปีแล้ว คนไม่ได้ตระหนักว่ามันเป็นปลาเอเลี่ยนสปีชีส์เขาเรียกว่าเป็นปลาเหยื่อคือหลายที่บอกว่าต้องการปลาราคาถูกก็จับแล้วไปให้ปลาตัวอื่นกิน นำไปเลี้ยงปลาที่อื่นหรือไปเป็นเหยื่อในการล่อปลามันก็เลยกระจายไปได้ มันเป็นผลจากในอดีตที่ไม่เคยตระหนักถึง เชื่อว่าในอนาคตน่าจะดีขึ้น
เรื่องนี้มันสอดคล้องกับผล DNA ของกรมประมง ที่มันจะเห็นเลยว่ามันจะมีช่วงพันธุกรรมต่อเนื่อง และพันธุกรรมในแบบจำเพาะเอกเทศออกไป เช่นที่ จ.ระยองจะต่างออกไปจากทางจ.กรุงเทพฯ ลงไปทางจ.สงขลาทางใต้จะต่างออกไปมันค่อนข้างจะยากที่มันจะระบาดไปเรื่อยๆได้ เป็นไปได้สูงที่มนุษย์เองก็มีส่วนในการเคลื่อนย้ายปลาเช่นกัน
ประเด็นเรื่องของการค้นหาจุดกำเนิดค่อนข้างที่จะล่าช้าเกินไปแล้ว วันนี้เรื่องใหญ่คือพยายามป้องกันการแพร่ระบาด ควบคุมจำนวนประชากรให้ได้ก่อนที่เคยบอกว่า ถ้าไม่ควบคุมเดี๋ยวมันจะระบาดลงใต้กับมาเลเซีย ตอนนี้เราทำดีควบคุมได้ดี ส่วนการตามหาแหล่งที่มาแท้ๆมันอยู่ที หลักฐานDNA แต่ก็ลำบากเพราะทุกคนหาไม่ได้ มันจะฟันธงได้ชัดเจนมากขึ้นถ้าได้ตัวอย่างจากบริษัทนำเข้ามาเพราะ ต้องขยายการวิจัย เพิ่มข้อมูล
สำหรับใครที่อยากจะข้อมูลอยากจะตีความบทวิจัยได้ถูกต้องชัดเจน อ.เจษฎา บอกว่า กรณีนี้ถือเป็นตัวอย่างพื้นฐานที่ดีที่สุดคือการให้เจ้าของวิจัยนั้นเป็นคนมานำเสนอกับสังคมอธิบายมาเล่าให้สื่อฟังแล้วค่อยมาย่อยกัน แต่ถ้าเกิดเราไปปุ๊บเราเห็นงานวิจัยแล้วไปดึงคำบางคำขึ้นมาแล้วสื่อทั่วไป สื่อออนไลน์ นำไปใช้ทำให้เกิดการตีความผิด ก็ทำให้คนเข้าใจผิดได้ เพราะเรื่องเนื้อหามันซับซ้อน งานวิจัยมันอาจจะมีจุดบอดหรือยังไม่สมบูรณ์ต้องทำเพิ่มเติมจะได้รู้ว่าต้องมีตรงนี้ที่ต้องทำต่อตรงนี้ที่ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม ถ้าหากนักวิจัยไม่มีโอกาสได้นำเสนอก็อาจจะนำไปสู่ความเข้าใจผิดได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง