ยังคงเป็นที่ประเด็นถกเถียงกรณีการระบาดของ "ปลาหมอคางดำ" ที่สร้างความกังวลว่าจะเกิดการทำลายระบบนิเวศในแม่น้ำของประเทศไทย ขณะที่อธิบดีกรมประมงพยายามชี้แจงข้อโต้แย้งต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องหลักฐานการส่งมอบซากปลาหมอจากบริษัทเอกชน ใครกันแน่ที่พูดความจริง?
วันที่ 18 ก.ค. 67 นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ได้เข้าร่วมการประชุมคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย โดยมีนายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.พรรคก้าวไกล เป็นประธานอนุ กมธ. และได้เชิญนักวิชาการ รวมถึงตัวแทนผู้ได้รับความเดือดร้อน เข้าร่วมให้ข้อมูล ทำให้เกิดการโต้แย้งและชี้แจงในหลายประเด็น
หลังจากบริษัทซีพีเอฟยืนยันว่า เมื่อปี 2553 เคยมีการนำเข้าลูกปลาหมอคางดำ จำนวน 2,000 ตัว แต่สุดท้ายเลี้ยงไม่รอดจนเหลือจำนวนเพียง 50 ตัว และยกเลิกโครงการไป ก่อนจะมีการส่งมอบซากปลาทั้งหมดให้กับทางกรมประมงตั้งแต่ปี 2554
ขณะที่กรมประมงกลับปฏิเสธว่าไม่มีเอกสารยืนยันการส่งมอบซากปลา 50 ตัว โดยนายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ระบุเพียงว่าทางตอนนี้กรมประมงไม่มีบันทึกดังกล่าว หากทางบริษัทเอกชนมีหลักฐานการส่งมอบซากปลาก็ขอให้นำออกมามอบให้ทางกรมเพื่อเป็นการยืนยันความจริง
โดยก่อนหน้านี้ซีพีเอฟเปิดเผยมุมมองว่าการระบาดครั้งนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับทางบริษัท เพราะโครงการเลี้ยงปลาหมอคางดำได้ผ่านมานาน 14 ปีแล้ว และปลาชุดสุดท้ายก็ถูกกำจัดไปหมดแล้ว จึงอาจมีเอกชนเจ้าอื่นที่นำเข้ามาแล้วทำให้ระบาดในภายหลัง โดยเฉพาะการนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม
อย่างไรก็ตาม นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ กล่าวว่าเรื่องระยะเวลาการระบาดอาจเป็นการเข้าใจผิด เพราะความจริงคือมันระบาดมา 14 ปีแล้ว เพียงแต่ตอนนี้มีการระบาดหนักขึ้นจาก 5 จังหวัด เป็น 16 จังหวัด ส่วนประเด็นปลาหมอคางดำในโครงการที่ซีพีเอฟอ้างว่าตายและถูกกำจัดหมดแล้ว วันนี้ยังไม่มีใครได้เห็นหลักฐานหรือซากปลาชุดดังกล่าวจากกรมประมงเลย
ส่วนคำกล่าวอ้างว่า อาจมีบริษัทอื่นที่ไม่ได้รับอนุญาตแต่มีการลักลอบนำเข้า นายณัฐชามองว่าเป็นคำกล่าวอ้างที่ใครก็สร้างได้ อยากให้พิจารณาจากข้อเท็จจริงที่มีในตอนนี้ คือข้อมูลที่กรมประมงชี้แจงว่าตั้งแต่ปี 2553 มีการอนุญาตนำเข้าปลาหมอคางดำ ให้กับบริษัทเอกชนเพียงรายเดียว
นายณัฐชายังตั้งคำถามต่อกรณีที่บริษัทเอกชนเผยข้อมูลว่า เคยมีการส่งออกปลาพันธุ์นี้จากไทยไปยังประเทศอื่น ในปี 2556-2560 ซึ่งอธิบดีกรมประมงยอมรับว่าตนเองก็ตกใจ เพราะไม่มีข้อมูลเรื่องนี้ แต่มีการตั้งทีมค้นคว้าแล้ว และพบว่ามีการส่งออกปลาในช่วงเวลาดังกล่าว ไปยังปลายทาง 17 ประเทศ มีผู้ส่งออก 11 ราว รวมปลาทั้งหมด 230,000 ตัว แต่หลังจากปี 2561 ที่มีการแก้กฎกระทรวง ก็ไม่มีการส่งออกเกิดขึ้นอีก
นอกจากนี้นายณัฐชายังแสดงความกังวลถึงประเด็นการรับซื้อปลาหมอคางดำของภาครัฐ ที่ต้องมีการวางแผนอย่างรัดกุม เพราะอาจทับซ้อนกับแผนการปล่อยปลากระพงขาว 90,000 ตัว ไปล่าปลาหมอคางดำ ซึ่งอาจกลายเป็นการไปไล่จับปลากระพงที่ปล่อยไปแทน ย้ำว่าจะต้องวางไทม์ไลน์ให้ชัดเจนระหว่างการไล่จับปลาและการปล่อยปลากระพง รวมถึงแผนที่ว่าจะปล่อยปลาที่ตัดต่อพันธุกรรมแล้วให้ไปผสมพันธุ์จนได้ปลาที่เป็นหมัน แต่ปัจจุบันยังมีงบโครงการเพียง 150,000 บาท เท่านั้น ซึ่งอธิบดียืนยันมาตรการแก้ปัญหาว่า ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการทดลอง งบประมาณดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่ง เนื่องจากกรมประมงมีอุปกรณ์ที่จำเป็นในการวิจัยอยู่บ้างแล้ว