svasdssvasds

ทำไม "ไอดิน กลิ่นฝน" ถึงรัญจวนหลังฝนตก กลิ่นนั้นทำให้ “รู้สึกดี” จริงไหม?

ทำไม "ไอดิน กลิ่นฝน" ถึงรัญจวนหลังฝนตก กลิ่นนั้นทำให้ “รู้สึกดี” จริงไหม?

ทุกครั้งหลังฝนตก มักจะมีไอดิน กลิ่นฝนลอยมาเตะจมูกอยู่ทุกครั้ง สปริงชวนดูวิทยาศาสตร์เบื้องหลังของ "กลิ่นฝน" มีที่มาอย่างไร ทำไมฝนตกแล้วถึงเกิดอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ พร้อมกับพาไปดูเกร็ดประวัติศาสตร์ ที่มีฝนเป็นส่วนหนึ่งเพื่ออรรถรสในการอ่าน

SHORT CUT

  • กลิ่นหอมรัญจวนของดินในภาษาอังกฤษเรียกว่า เพตริเคอร์ (Petrichor)
  • กลิ่นดินไม่ใช่แค่โมเลกุลของดินผสมรวมกันน้ำฝน แต่เป็นกลิ่นของ “จีออสมิน” (Geosmin) สารหอมระเหยที่สร้างขึ้นโดย สเตรปโคไมคีส (Streptomyces)
  • วิทยาศาสตร์ของสีเขียวก็บอกว่า มนุษย์เมื่อได้จ้องมองสีเขียวของพรรณไม้ทำให้อารมณ์ดีขึ้น สดชื่น กระปี้กระเป่า และรู้สึกเชื่อมโยงกับธรรมชาติ

ทุกครั้งหลังฝนตก มักจะมีไอดิน กลิ่นฝนลอยมาเตะจมูกอยู่ทุกครั้ง สปริงชวนดูวิทยาศาสตร์เบื้องหลังของ "กลิ่นฝน" มีที่มาอย่างไร ทำไมฝนตกแล้วถึงเกิดอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ พร้อมกับพาไปดูเกร็ดประวัติศาสตร์ ที่มีฝนเป็นส่วนหนึ่งเพื่ออรรถรสในการอ่าน

สำหรับบางคน “ฤดูฝน” อาจเป็นช่วงเวลาที่ไม่อยากมาถึงมากที่สุด เพราะเลิกงานทีไร เป็นอันต้องถกขากางเกงทุกครั้ง มันชวนหงุดหงิดอยู่ไม่น้อยเลยใช่ไหม

แต่เมื่อฝนหยุดร่วงหล่นลงแล้ว สิ่งที่ตามมาคือ “ไอดิน กลิ่นฝน” ที่รัญจวนเตะจมูกของเราตั้งแต่วัยที่ยังเล่นกลางดิน สนุกกลางโคลนกันอยู่ สปริงชวนหาคำตอบถึงที่มาของกลิ่นนั้น ที่ไม่เพียงบรรจุสสาร ตั้งบรรจุความทรงจำของเราเอาไว้ด้วย

ไอดิน กลิ่นฝน มีที่มาอย่างไร?

ไอดิน - กลิ่นฝน มีที่มาอย่างไร?

กลิ่นหอมรัญจวนของดินในภาษาอังกฤษเรียกว่า เพตริเคอร์ (Petrichor) ประกอบขึ้นจาก 2 คำ ได้แก่ “petros” แปลว่า ก้อนหิน และ “ichor” แปลว่า ของเหลวของทวยเทพ (ฝน) รากคำศัพท์สามารถอธิบายแนวคิดของคนในยุคโบราณ ที่มีความเชื่อยึดโยงกับเทพ ในหลากหลายตำนานก็พูดถึงที่มาของฝนแตกต่างกันออกไป

เพตริเคอร์ (Petrichor) คือต้นตอที่ทำให้เกิด ไอดิน กลิ่นฝน

แต่อย่างไรก็ดี คำตอบทางวิทยาศาสตร์ของ “กลิ่นฝน” ถูกอธิบายไว้โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลีย ที่ศึกษาว่าทำไมถึงมีกลิ่นอะไรบางอย่างหลังฝนตก แท้จริงแล้ว กลิ่นดินไม่ใช่แค่โมเลกุลของดินผสมรวมกันน้ำฝน แต่เป็นกลิ่นของ “จีออสมิน” (Geosmin) สารหอมระเหยที่สร้างขึ้นโดย สเตรปโคไมคีส (Streptomyces)

งานวิจัยบอกว่ามนุษย์มีความไวต่อกลิ่นนี้เป็นพิเศษ นั่นเป็นเพราะว่าเชื้อสเตรปโคไมคีสมีอยู่มากมายในผืนดิน (ที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุ) เมื่อฝนตกลงมา แบคทีเรียที่อยู่ในเชื้อตัวนี้ก็หลุดลอยส่งกลิ่นรัญจวนมาเตะจมูกของเรานั่นเอง

มีแค่ “กลิ่นดิน” อย่างเดียวหรือ เปล่า...ต้นไม้ใบเขียวก็ส่งกลิ่นได้ยามฝนตก

นอกจากกลิ่นดินแล้ว พืชพรรณที่เราปลูกไว้รอบ ๆ บ้านก็มีส่งกลิ่นรัญจวนเตะจมูกของเราเช่นกัน ยิ่งยามที่ฝนหยุดหมาด ๆ ล่ะก็ รู้สึกสดชื่นสุด ๆ ไปเลย

พืชพรรณก็ส่งกลิ่นเหมือนกันหลังฝนตก Credit ภาพ Flickr

แถมวิทยาศาสตร์ของสีเขียวก็บอกว่า มนุษย์เมื่อได้จ้องมองสีเขียวของพรรณไม้ทำให้อารมณ์ดีขึ้น สดชื่น กระปี้กระเป่า และรู้สึกเชื่อมโยงกับธรรมชาติ กล่าวคือประสาทสัมผัสของมนุษย์กับธรรมชาติเชื่อมโยงกันอย่างเหนียวแน่น แม้ปัจจุบันมนุษย์จะถูกชี้นำด้วยเทคโนโลยีแล้วก็ตาม

ยามฝนโปรยปราย ทำไมความทรงจำถึงพรั่งพรู?

เพลง “อยากเจอ” ของ Blue Shade มีเนื้อร้องว่า “เขาว่าฝนมันทำให้คนเหงา หรือเพราะฟ้าที่มองช่างว่างเปล่า ความอ้างว้างมันเกิดจากลมหนาว หรือดาวที่มองดูอ่อนแรง” จริง ๆ แล้ว มีอีกหลายเพลงที่หยิบฝนมาเป็นของกลางในการบอกความรู้สึก

ทำไมฝนตกแล้วหวนนึกถึงวันเก่าๆ ?

ผู้ใช้รายหนึ่งเปิดเผยผ่านเว็บไซต์ Conversation ทุกครั้งที่ฝนตกมันทำงานกับความรู้สึกมากกว่าปกติ เมื่อคุณเติบโต และผ่านวัยเยาว์ไปแล้ว ชีวิตเรา ณ ตอนนี้ไม่เหมือนเดิมแล้ว เราผ่านการร้องไห้ หัวเราะ ผิดหวัง สำเร็จ หรือถูกทรยศ

เมื่อหวนคิดถึงความรู้สึกใส ๆ อันหอมหวานในวัยเด็ก หรือที่เรียกว่า Naïve ก็รู้สึกเจ็บปวดขึ้นมา สิ่งนี้จะทรงพลังยิ่งขึ้นเมื่อฝนตก แต่ต้องบอกว่าของแบบนี้มันขึ้นอยู่กับประสบการณ์และเรื่องราวของแต่ละคน

เพราะสำหรับคนบางกลุ่มที่ต้องทำงานรับใช้นายจ้างมาทั้งวัน หวังจะกลับบ้านไปนอนสบายบนเตียงนุ่มนิ่ม ก็อาจกลายเป็นปีศาจร้ายขึ้นมาได้เพราะแค่ “ฝนตก” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝนตกแล้วน้ำระบายไม่ทัน มันคงชวนหงุดหงิดมากกว่า จริงไหม...

"ฝน" กับเกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ

  • พระพิรุณ เทพเจ้าแห่งฝนผู้บันดาลความชุ่มฉ่ำสู่พื้นโลก

ตามคติของศาสนาฮินดู พระพิรุณ หรือ พระวิรุณ เป็นเทพแห่งน้ำและฝน เป็นเทวดาผู้รักษาโลก ประจำทิศประจิม (ทิศตะวันตก) หากนำพระพิรุณไปเชื่อมของโลกตะวันตก อาจเทียบได้กับ "โพไซดอน" (เทพปกรณัมกรีก) และ "เนปจูน" (เทพปกรณัมโรมัน)

พระพิรุณ Credit ภาพ wikipedia

  • เพราะ "ฝนตก" ทำให้นโปเลียนเสียเปรียบในยุทธการที่วอเตอร์ลู

ยุทธการที่วอเตอร์ลู (Water loo) สงครามสุดท้ายของจักรพรรดิชื่อ “นโปเลียน” ก็มีเรื่องราวเชื่อมโยงกับฝนเช่นเดียวกัน ประวัติศาสตร์ระบุไว้ว่าช่วงเวลาบ่ายแก่ ๆ ของวันที่ 17 มิถุนายน 1815 เกิดพายุฝนฟ้าคะนองอย่างหนักที่หมู่บ้านลิญญี (Ligny) ประเทศเบลเยียม ขณะที่นโปเลียนกำลังกรีทาทัพไปโจมตีอังกฤษและเนเธอร์แลนด์ (Anglo-Dutch)

ยุทธการที่วอเตอร์ลู Credit ภาพ wikipedia

ผลกระทบของฝนทำให้พื้นดินบริเวณนั้นเฉอะแฉะ ทหารราบ ทหารม้า และทัพปืนใหญ่ของกองทัพฝรั่งเศสไม่สามารถเคลื่อนพลผ่านทุ่งนาได้ นโปเลียนออกคำสั่งหยุดเคลื่อนพลชั่วคราว และรอให้สภาพดินแห้งกว่านี้เล็กน้อย กองกำลังของอังกฤษ - เนเธอร์แลนด์จึงกุมความได้เปรียบ

  • กองเรืออาร์มาดาแห่งสเปน – ทัพเรือฝ่ายคาทอลิกที่ถูกขย้ำด้วย "ฝนตกห่าใหญ่"

ในปี 1588 มีมหาศึกการห้ำหั่นกองเรือของ 2 ขั้วอำนาจแห่งท้องทะเล ได้แก่ อังกฤษ ที่ปกครองโดย ราชินี​เอลิซาเบท​ที่ 1 ซึ่ง​เป็น​ชาว​โปรเตสแตนต์ กับ​ฟิลิป​ที่ 2 แห่ง​สเปน ​ซึ่ง​เป็น​ชาว​โรมัน​คาทอลิก

กองเรืออาร์มาดาแห่งสเปน

เหตุผล-แรงจูงใจของกษัตริย์ฟิลลิปที่ 2 ในการโจมจีกองเรือของอังกฤษคือต้องการช่วยชาวคาทอลิกในอังกฤษ เพราะราชินี​เอลิซาเบท​ที่ 1 เปลี่ยนประเทศให้เป็นนิกายโปรเตสแตนท์ และตัดขาดกับวาติกัน

ทัพเรือแห่งสเปนประกอบไปด้วย เรือ 130 ลำ ทหาร 20,000 นาย และลูกเรืออีก 8,000 คน ได้เดินทางออกจากกรุงลิสบอนในวันที่ 29 พ.ค. 1588

การรบในครั้งนี้จบลงด้วยฝ่ายสเปนเป็นผู้ปราชัย แม้กองกำลังจะใหญ่กว่าทางฝั่งของอังกฤษ แต่พายุฝนฟ้าคะนองจะไม่เป็นใจ พัดพาเรือของสเปนเสียหาย ทหารล้มตาย สเบียงอาหารเสียหายจนหมด 

ราชินี​เอลิซาเบท​ที่ 1 แห่งอังกฤษ

อย่างไรก็ดี กองเรืออาร์มาดาก็สามารถกลับถึงสเปนได้ ในสภาพที่น่าอดสู เพราะเหลือทหารและลูกเรือเพียงครึ่งเดียวจากขาไปเท่านั้น กล่าวคือพายุฝนเพียงลูกเดียวทำให้คาทอลิกไม่สามารถมีชัยเหนือโปรเตสแตนท์ได้ จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ราชินี​เอลิซาเบท​ที่ 1 แห่งอังกฤษ ทรงตรัสวลีอันลือลั่นก้องโลกมาจนถึงปัจจุบัน

“God blew and they were scattered”

 

ที่มา: WOL, KU, History, AMS, Reader's digest

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related