svasdssvasds

เฝ้าระวัง แม่น้ำโขง - น้ำประปา หลังรถบรรทุก กรดซัลฟิวริก พลิกคว่ำ ไหลลงแม่น้ำ

เฝ้าระวัง แม่น้ำโขง - น้ำประปา หลังรถบรรทุก กรดซัลฟิวริก พลิกคว่ำ ไหลลงแม่น้ำ

"ศุภมาส" สั่งการด่วน!ให้ ทีม DSS วศ.อว. สนับสนุนเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ “แม่น้ำโขง” และน้ำประปา รวมถึงผลกระทบประชาชนหลังเกิดเหตุรถบรรทุกพลิกคว่ำที่ "หลวงพระบาง" ทำ "กรดซัลฟิวริก" กว่า 30 ตันรั่วไหลลงแม่น้ำ

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า จากกรณีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประกาศเตือนให้เฝ้าระวังผลกระทบคุณภาพน้ำในแม่น้ำโขง หลังจากที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) แจ้งว่ามีอุบัติเหตุรถบรรทุกสารเคมีพลิกคว่ำ ส่งผลให้มี “กรดซัลฟิวริก” จำนวน 30 ตัน ไหลลงสู่แม่น้ำคาน บริเวณแขวงหลวงพระบาง เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา และจะไหลลงลุ่มน้ำโขงในวันที่ 5 เมษายน ก่อนจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ช่วงวันที่ 8 - 10 เมษายน 2567 พร้อมกับมีการประกาศแจ้งเตือนให้จังหวัดที่ติดลุ่มน้ำโขง ได้แก่ เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ติดตามสถานการณ์คุณภาพน้ำและเฝ้าระวังผลกระทบจากคุณภาพน้ำในแม่น้ำโขง รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนที่สัญจรและประกอบกิจกรรมในบริเวณแม่น้ำโขง การประมงสัตว์น้ำ รวมทั้งผู้ที่อาศัยในพื้นที่บริเวณดังกล่าว

เฝ้าระวัง แม่น้ำโขง - น้ำประปา หลังรถบรรทุก กรดซัลฟิวริก พลิกคว่ำ ไหลลงแม่น้ำ

นางสาวศุภมาส กล่าวเน้นย้ำว่า ตนเป็นห่วงประชาชนในพื้นที่ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงคุณภาพชีวิตประชาชน ได้สั่งการด่วนให้ ทีม DSS หน่วยปฏิบัติการนักวิทยาศาสตร์เคลื่อนที่เร็ว กรมวิทยาศาสตร์บริการ ให้สนับสนุนเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ “แม่น้ำโขง” และน้ำประปา รวมถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม

นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กล่าวว่า ผลกระทบต่อสุขภาพของกรดซัลฟิวริกนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นอันตรายจากการสัมผัสกรดที่มีความเข้มข้นสูง มีฤทธิ์กัดกร่อนทำให้เนื้อเยื่อต่าง ๆ เสียหาย ซึ่งแนวทางแก้ไขปัญหา เบื้องต้นประเทศไทยจะมีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประสาน สปป.ลาว ในการบริหารจัดการน้ำจากเขื่อนไชยะบุรี เพื่อเจือจางสารเคมีแล้ว ซึ่งคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำแม่น้ำโขงในประเทศไทย

ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้สื่อสารให้ความรู้แนวทางการปฏิบัติตัวแก่ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งหากสัมผัสแหล่งน้ำแล้วมีอาการระคายเคือง ผิวหนังไหม้ ปวดแสบปวดร้อน เกิดแผลพุพอง หรือตาพร่ามัว ตาแดง น้ำตาไหล ขอให้รีบไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการและทำการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

เฝ้าระวัง แม่น้ำโขง - น้ำประปา หลังรถบรรทุก กรดซัลฟิวริก พลิกคว่ำ ไหลลงแม่น้ำ

สำหรับข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลวิทยาศาสตร์ วศ.อว. กรดซัลฟิวริก (sulfuric acid) หรือกรดกำมะถัน ลักษณะทั่วไปจะเป็นของเหลวใสคล้ายน้ำมัน ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มีความหนืด จัดเป็นกรดแร่อย่างแรง ละลายในน้ำได้ดี เป็นเคมีภัณฑ์พื้นฐานที่มีการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเคมีมีฤทธิ์กัดกร่อนวัตถุเกือบทุกชนิด ทำให้เกิดการระคายเคืองต่ออวัยวะสัมผัส มีพิษเฉียบพลันหากสูดดม โดยข้อมูลยังบ่งชี้ว่า ซัลฟิวริกที่มีฤทธิ์กัดกร่อนอย่างรุนแรง สารละลายของกรดซัลฟิวริก ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ตาและเยื่อบุได้อย่างรุนแรงถ้าได้รับทางปาก เยื่อบุทางเดินอาหารตั้งแต่ปาก คอหอย หลอดอาหาร ผู้ป่วยจะปวดอย่างรุนแรงและไม่สามารถกลืนอาหารได้ เซลล์เยื่อบุของอวัยวะที่สัมผัสกับกรดซัลฟิวริกจะตาย

โดยแผลที่โดนกรดซัลฟิวริกจะเปลี่ยนเป็นสีขาวเทา แล้วจึงเปลี่ยนเป็นสีดำ ความเป็นพิษต่อร่างกายของกรดซัลฟิวริกมีดังนี้  หากผิวหนังสัมผัสโดยตรง ทำให้เกิดการระคายเคืองอย่างรุนแรง ผิวหนังไหม้ ปวดแสบปวดร้อน และเกิดแผลพุพอง ดวงตา การสัมผัสโดยตรงกับของเหลว ไอ หรือหมอกควันของกรดซัลฟิวริก จะทำให้ดวงตาระคายเคือง พร่ามัว ตาแดง น้ำตาไหล กระจกตาเสียหาย และกรอกตาไปมาไม่ได้ ถ้าหากโดนดวงตามาก ๆ อาจทำให้เกิดการไหม้อย่างสาหัส จนถึงตาบอดได้

นพ.รุ่งเรือง กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการประเมิน สถานการณ์ด้วยข้อมูลวิทยาศาสตร์และสถานการณ์จริงพบว่าโอกาสเกิดอันตรายต่อประชาชนในพื้นที่น่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ๆ อีกทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ได้เข้าแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ สิ่งสำคัญคือเน้นย้ำให้ประชาชนให้เข้าใจข้อมูล และอันตรายของกรดซัลฟิวริก รวมถึงงดการใช้น้ำ และสัมผัสกับน้ำในแม่น้ำโขงในช่วงเวลาที่หน่วยงานในพื้นที่ได้แจ้งเตือนประชาชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related