อธิบดีอุทยานฯ และอธิบดีทะเลและชายฝั่งฯ ลงพื้นที่สำรวจการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย อช.หมู่เกาะสิมิลัน และ อช. หมู่เกาะสุรินทร์ ประเมินทรัพยากรทางทะเลรวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากเปิดการท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศ
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (ออส.) พร้อมด้วยนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) และคณะ เดินทางลงพื้นที่จังหวัดพังงา เพื่อสำรวจและติดตามการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย บริเวณอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน และอุทยานหมู่เกาะสุรินทร์ และตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน ระหว่างวันที่ 29-31 มีนาคม 2567 โดยมีนายเพิ่มศักดิ์ คงแก้ว ผู้อำนวยการสำนักสำบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) หัวหน้าอุทยานแห่งชาติสิมิลัน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ให้การต้อนรับฯ
วันที่ 29 มีนาคม 2567 คณะฯ ได้เดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน เพื่อดำน้ำลึกสำรวจและติดตามการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิต บริเวณจุดดำน้ำลึก "เรือนกล้วยไม้ (East of Eden)" และบริเวณจุดดำน้ำลึก "กองหินแฟนตาซี (Fantasy Reef)" และวันที่ 30 มีนาคม 2567 คณะฯ เดินทางไปหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สล.3 (เกาะตาชัย) และหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ มส. 3 (อ่าวช่องขาด) และเดินทางไปเยี่ยมหมู่บ้านมอแกน ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทย มอแกนและสาธารณสุขมูลฐานชุมชน และมีกำหนดเดินทางกลับในวันที่ 31 มี.ค.2567
จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อสำรวจและติดตามการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล สำหรับในพื้นที่ของเกาะตาชัย และอ่าวงวงช้างที่เกาะ 8 ในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน กรมอุทยานแห่งชาติฯ มีแผนจะส่งเสริมศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในอุทยานทางทะเล ซึ่งที่ผ่านมาเกาะตาชัยเคยได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอย่างมาก แต่ต้องปิดตัวลงตั้งแต่ 15 พฤษภาคม 2559 เพราะสภาพธรรมชาติเสื่อมโทรม และตอนนี้ จึงอยู่ในแผนงานที่จะกลับมาเปิดอีกครั้ง โดยคาดว่ายังต้องใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปี เพื่อศึกษาผลกระทบให้รอบด้าน และต้องผ่านการหารือจากหลายฝ่ายด้วย ซึ่งการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในอุทยานฯ เป็นหนึ่งในนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ ด้วยการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ แต่ต้องอยู่ภายใต้การกำหนดแผนที่เหมาะสมว่าจะไม่กระทบต่อทรัพยากรฯ ในทะเล ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความสมดุลของระบบนิเวศเป็นสำคัญที่สุด เพื่อไม่ให้กระทบต่อธรรมชาติที่กำลังฟื้นตัวด้วย
ส่วนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ มีความสมบูรณ์ของปะการังและปลาทะเลที่สวยงาม มีบางพื้นที่ที่มีปะการังฟอกขาว จำเป็นต้องมีการวัดอุณหภูมิน้ำตลอดหรือต้องปิดพื้นที่เพื่อให้เกิดการฟื้นฟู ส่วนการจัดระเบียบพื้นที่กับชุมชนมอร์แกนนั้น นับว่ามีความสัมพันธ์อันดี มีการให้ความร่วมมือกับอุทยานฯ ในทุกด้าน ซึ่งชุมชนก็มีรายได้จากการท่องเที่ยว ทั้งนี้ได้กำชับหัวหน้าอุทยานฯ ต้องควบคุมประชากรให้มีความเหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และให้ดูแลความสะอาดของอาคารสถานที่ให้เป็นระเบียบด้วย