SHORT CUT
พาติดตามภารกิจของคณะนักวิจัยจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ลงเก็บไข่และสเปริ์มของปะการัง พร้อมนำไปเพาะในห้องแล็บจนโตสมบูรณ์ และส่งกลับคืนสู่ท้องทะเลอีกครั้ง
ท่ามกลางวิกฤตปะการังที่หลายประเทศกำลังเผชิญในเวลานี้ เนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น จนทำให้ปะการังเกิดการฟอกขาวหรือได้รับความเสียหาย แต่ยังโชคดีที่เรามีฮีโร่คอยดูแลสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลอยู่
ในค่ำคืนหนึ่งนอกชายฝั่งประเทศไทย เหล่านักประดาน้ำดำผุดดำว่ายลงไปเพื่อไปเก็บไข่และสเปิร์มปะการังขึ้นมา พวกเขานำสิ่งที่ได้ไปเพาะต่อในห้องแล็บทดลอง เพื่อหวังคืนชีวิตให้เหล่าปะการังอีกครั้ง
ปรากฏการณ์ปะการังปล่อยไข่และสเปิร์มจะเกิดขึ้นแค่เพียงหนึ่งครั้งในหนึ่งปีเท่านั้น โดยมีปัจจัยสำคัญ 3 สิ่งคือ พระจันทร์ อุณหภูมิน้ำ คลื่นลมและระดับน้ำทะเล
บรรดานักวิทยาศาสตร์จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของประเทศไทยเฝ้ารอช่วงเวลานั้น พวกเขานำสเปิร์มและไข่ของปะการังขึ้นมาจากทะเล และนำกลับไปที่ห้องแล็บทดลองด้วย ก่อนที่จะเพาะเลี้ยงจนมันโตมากพอที่พวกเขาจะนำมันกลับคืนสู่ท้องทะเลอีกครั้ง
ธิติพร คณานุรักษ์ หนึ่งในนักชีววิทยาทางทะเลชาวไทยเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า เธอตื่นเต้นมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้มาเห็น โดยไข่และสเปิร์มที่ได้จะต้องผสมกันทันทีเพื่อป้องกันการผสมพันธุ์เลือดชิด และจะต้องเกิดขึ้นภายใต้แสงสีแดง ซึ่งเลียนแบบแสงพระจันทร์
ความล่าช้าอาจนำไปสู่อัตราการปฏิสนธิที่ลดลง หลังจากนั้น 72 ชั่วโมง ไข่ที่ปฏิสนธิแล้วจะถูกย้ายไปยังสถานที่ที่ให้พวกมันได้เจริญเติบโตต่อ
ความพยายามผสมพันธุ์ปะการังนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการฟื้นฟูที่ริเริ่มโดยรัฐบาลและบรรดานักวิทยาศาสตร์เมื่อปี 2016 ซึ่งในระยะแรกมีการทดลองที่เกาะมันใน สาเหตุที่บรรดานักวิทยาศาสตร์เลือกที่นี่ เพราะเป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีแนวปะการังที่มีความหลากหลายมากที่สุดของประเทศ
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งคาดการณ์ว่า มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของแนวปะการังในประเทศไทย ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ฟอกขาวใหญ่ ซึ่งเริ่มขึ้นในปี 2010 อันเป็นผลมาจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่อุ่นขึ้น
นับตั้งแต่โครงการนี้เริ่มขึ้น โคโลนีของปะการังหรือปะการังที่อยู่รวมกันกว่า 4,000 จุดได้รับการฟื้นฟูสภาพ
อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูปะการังยังนับว่าล่าช้า เนื่องจากตัวอ่อนปะการังจำเป็นต้องใช้เวลาในการเติบโตราว 3-5 ปีก่อนจะแข็งแรงมากพอที่จะย้ายกลับคืนสู่พื้นทะเลอีกครั้ง ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า อัตราการรอดชีวิตของปะการังที่โตในห้องแล็บ เมื่อกลับคืนสู่ทะเลอยู่ที่ราว 90 เปอร์เซ็นต์
ที่มาข้อมูลและภาพ: Reuters
ข่าวที่เกี่ยวข้อง