SHORT CUT
รู้หรือไม่ว่า เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ชาวฟินแลนด์จะไม่พบเห็นกับแสงอาทิตย์ 50 วัน จนทำให้ชาวฟินแลนด์ประสบกับโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล หรือ Seasonal Affective Disease ร้ายแรงถึงขั้นฆ่าตัวตาย
เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา รายงานความสุขโลก (World Happiness Report) เผยว่า ฟินแลนด์ยังคนรั้งอันดับ 1 ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก ด้วยคะแนน 7.7 จาก 10 คะแนน ซึ่งเป็นปีที่ 7 ติดต่อกันแล้ว
ปัจจัยที่ถูกนำมาวิเคราะห์ความสุขได้แก่ GDP, อายุเฉลี่ยของการมีสุขภาพดี, การสนับสนุนทางสังคม, เสรีภาพ, ความเอื้ออาทร, การทุจริต ซึ่งก็ดูครบถ้วนดี แต่ถ้าเราบวกปัจจัยเรื่อง “สุขภาพจิต” เข้าไปด้วย บางทีประเทศที่สุดที่สุดอาจไม่ใช่ฟินแลนด์ก็ได้
แล้วสุขภาพจิตของคนฟินแลนด์เป็นอย่างไร มีความเชื่อมโยงกับสภาพอากาศอย่างไร อากาศเย็น ๆ หิมะขาวโพลน สวัสดิการก็ดี แม้ว่าจะเจอปัญหาอย่างไรชาวฟินแลนด์ก็น่าจะมีแรงผลักดันจากแนวคิด “ซิสุ” (Sisu) อยู่นี่นา
รู้หรือไม่ว่า 1 ใน 4 ของเนื้อที่ประเทศฟินแลนด์ตั้งอยู่เหนือพื้นที่อาร์กติกเซอร์เคิล (Arctic Circle) ซึ่งเป็นเขตที่มีฤดูหนาวตลอดกาลที่รุนแรงและมืดมิด ทำให้เกิดปรากฏการณ์พระอาทิตย์ไม่โผล่ขึ้นฟ้าเป็นเวลากว่า 50 วัน (ในฤดูหนาว) และฉากทัศน์แบบนี้ มีผลต่อสภาพจิตใจ และสุขภาพของคนฟินแลนด์อย่างจัง
ด้วยเหตุนี้ ทำให้คนฟินแลนด์ต้องเผชิญกับ “โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล” หรือ Seasonal Affective Disease (SAD) ซึ่งใครที่เป็นโรค SAD มักมีอาการดังนี้
เว็บไซต์ Mayoclinic ระบุว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล (SAD) พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และส่วนใหญ่เป็นคนที่มีอายุน้อย และสุดท้ายนำไปสู่การฆ่าตัวตาย ในปี 2022 ฟินแลนด์มีประชากร 5.6 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายราว 740 คน กล่าวคือ ใน 1แสนคน จะมี 13 คนฆ่าตัวตาย
เว็บไซต์ Psycom เผยว่า 'แสงแดด' คือผู้เล่นสำคัญที่ทำให้คนฟินแลนด์เกิดอาการต่าง ๆ นานา เพราะว่าแสงแดดส่งผลต่อการทำงานของฮอร์โมนเซโรโทนินในสมอง ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมอารมณ์ของมนุษย์
ดังนั้น เมื่อเข้าสู่ช่วงเดือนธันวาคม มกราคม ไปจนถึงกุมภาพันธ์ ชาวฟินแลนด์จะเป็นโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลกันเยอะมาก
ลดหลั่นลงมาจากโรค SAD ก็คืออาการ 'เหงา' แม้ใครจะบอกว่าการได้อยู่กับตัวเองเป็นเรื่องดี ซึ่งเป็นจริงในบางบริบท แต่กับแดนหิมะแห่งนี้การอยู่คนเดียวมากเกินไปทำให้ชาวฟินแลนด์รู้สึกเปล่าเปลี่ยว
เดิมที ลักษณะนิสัยส่วนใหญ่ของคนฟินแลนด์จะค่อนข้างเงียบ รักความสันโดษ การขาดสังคม (ทั้งในเชิงพื้นที่และความสัมพันธ์) ด้วยไลฟ์สไตล์แบบนี้ มีสิทธิสูงที่จะนำพาห้วงอารมณ์ต้องเผชิญกับความเหงาะ ความรู้สึกโดดเดี่ยว
และสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุในฟินแลนด์ (จริง ๆ หลายประเทศก็เจอปัญหาแบบเดียวกัน) อายุยิ่งเพิ่มขึ้นมากเท่าไร สีสันในชีวิตก็เริ่มจืดจางไปเรื่อย ๆ เพื่อนที่โตมาด้วยกันเริ่มป่วย หรือบางครั้งก็เสียชีวิต ซึ่งมันเป็นผลเชิงลบกับอารมณ์อยู่แล้ว แต่ยิ่งเป็นคนฟินแลนด์ + ผู้สูงอายุ อาการเหงา รู้สึกไร้ค่า ยิ่งทวีคูณหนักเข้าไปอีก
ข้อมูลจาก เฮลซิงกิมิสซิโอ (Helsinkimissio) องค์กรสังคมสงเคราะห์ที่มีภารกิจช่วยประชาชนลดความเหงา ระบุไว้ว่า ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ฟินแลนด์ประกาศล็อคดาวน์ ประชาชนต้องอยู่ในเขตอาคารบ้านเรือนของตัวเอง
โอ้ย...คนฟินยิ่งเหงาเข้าไปใหญ่ ลูกหลานไม่ได้เจอ บทสนทนาที่มีน้อยอยู่แล้ว กลายเป็นเงียบเชียบไปเลย บวกกับอากาศหนาวเหน็บ กิจวัตรก็แทบไม่เกิด ทำให้ความเหงาจึงเป็นเรื่องใหญ่พอสมควรในฟินแลนด์
จะเห็นได้ว่าสภาพอากาศกับห้วงอารมณ์ติดหนึบกันแบบแยกไม่ออก เมืองไทยอากาศร้อนเราก็หงุดหงิด พออากาศหนาวเราก็อารมณ์ดี กลับกัน ในเงื่อนไขของฟินแลนด์ ประเทศซึ่งมีภูมิศาสตร์ตั้งอยู่ในช่องฟรีซ (โลก) ชัดเลยว่าพวกเขาเกลียดความหนาว
โจทย์ที่ยากคือเราจะทำอย่างไรให้รับมือกับสภาพอากาศสุดขั้วได้ แม้จะเป็นวลีเห่ย ๆ แต่การเริ่มที่ตัวเองดูจะง่ายกว่าการไปสั่งให้ฟินแลนด์ไม่หนาว หรืออากาศเมืองไทยไม่ร้อน
ที่มา: mayoclinic, psycom
ข่าวที่เกี่ยวข้อง