SHORT CUT
รู้หรือไม่ว่า ฟอร์มูล่าวันปล่อยก๊าซคาร์บอน 256,000 ตัน ในปี 2019 แม้จะยังใช้เครื่องยนต์สันดาปอยู่ แต่แท้จริงแล้ว สัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไม่ได้มาจากรถที่ใช้แข่งขัน แต่มีที่มาอย่างไร ติดตามได้ที่บทความนี้
ดูเหมือนว่าปีนี้คนไทยให้ความสนใจกันมากขึ้น สังเกตได้จากกระแสสังคมที่มีการพูดถึงการแข่งขัน Saudi Arabian Grand Prix 2024 ซึ่งถูกจัดขึ้นที่สนาม Jeddah Corniche Circuit ประเทศซาอุดิอาราเบีย โดยผู้ชนะในรอบคัดเลือกก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ‘Max Verstappen’ จากทีม Red Bull Racing
และถือเป็นการตอกย้ำกระแสฟอร์มูล่าวันเข้าไปอีก เมื่อเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้หารือกับ Stefano Domenicali ผู้บริหารบริษัท Formula One Group ถึงประเด็นเรื่องการจัดการแข่งขันฟอร์มูล่าวันในประเทศไทย
"ภารกิจสุดท้ายของวันนี้ คือการประชุมออนไลน์ กับ CEO ของ Formula 1 ครับ โดยผมอยากชวนให้การแข่งขันรถยนต์ระดับโลกอย่าง Formula 1 มาจัดแข่งที่ประเทศไทย ซึ่งผมมั่นใจครับว่าประเทศไทยมีความพร้อม ทั้งสถานที่ท่องเที่ยว และเส้นทางที่สวยงาม” นายกรัฐมนตรีได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก "เศรษฐา ทวีสิน - Srettha Thavisin
นอกจากนี้ นายกฯ ยังได้พูดคุยกับผู้บริหาร ‘Formula E’ ซึ่งเป็นการแข่งขันรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งก็แว่ว ๆ ว่า เขาสนใจเข้ามาจัดการแข่งขันรถแข่งแบบ EV ในประเทศไทย
“ประเทศไทยกำลังปรับเปลี่ยนไปสู่การใช้รถยนต์แบบ EV โดยยอดการสั่งซื้อรถยนต์ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ที่มียอดสั่งจองรถยนต์ EV จำนวนถึง 40% จากยอดสั่งจองทั้งหมดครับ ผมจึงคิดว่าเป็นเรื่องดีที่จะนำเอาการแข่งขันรถแข่ง Formula E เข้ามาแข่งในประเทศไทย เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ”
“ตลอดเป็นการตอกย้ำนโยบายการลดจำนวนการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งผมได้นัดพบกับผู้บริหารของ Formula E ที่จะเข้ามาสำรวจพื้นที่ใน จ.เชียงใหม่สัปดาห์หน้า เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดการแข่งขัน Formula E ในประเทศไทยเป็นครั้งแรกในปีหน้า ซึ่งจะเป็นปีที่รัฐบาลจะยกระดับการท่องเที่ยวของไทยเป็น Tourism Hub ด้วยครับ”
แต่อย่างไรก็ดี สัดส่วนการจัด Formula E ยังถือว่าน้อยมาก ปัจจุบันจัดไปแค่ 16 รายการ กระจายไป 10 เมืองทั่วโลก ขณะที่ ‘Formula 1’ ซึ่งมีการจัดการแข่งขันมาตั้งแต่ทศวรรษ 1946 ยังคงเป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบัน และที่สำคัญรถฟอร์มูล่าวันยังขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สันดาป (Internal combustion engine)
ต้องบอกว่าเครื่องยนต์ที่แต่ละเจ้าเลือกใช้ล้วนแล้วต้องผ่านมาตรฐานของสหพันธ์รถยนต์ระหว่างประเทศ (Fédération internationale de l'automobile) ก่อน ซึ่งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็มีการปรับเปลี่ยนมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ไม่วายถูกครหาว่ายังปล่อยมลพิษมากอยู่ดี
แต่นอกเหนือจากเครื่องยนต์สันดาปแล้ว กิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันฟอร์มูล่าวันก็ล้วนแล้วก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเช่นเดียวกัน ซึ่งถ้าเทียบกันดูแล้ว การปล่อยคาร์บอนของเครื่องยนต์สันดาปคิดเป็นสัดส่วนน้อยมาก
ในปี 2019 การแข่งขันฟอร์มูล่าวันปล่อยก๊าซคาร์บอน 256,000 ตัน ซึ่งการปล่อยคาร์บอนร้อยละ 45 เกิดจากการเดินทางถนน อากาศ และทางทะเล และอีกร้อยละ 27.7 การจากการเดินทางของนักแข่ง สตาฟฟ์ อีกเป็นร้อยชีวิต ขณะที่การสันดาปของรถฟอร์มูล่าวันคิดเป็นร้อยละ 0.7 เท่านั้น
บนหน้าเว็บไซต์ของฟอร์มูล่าวัน ระบุว่า มีแผนพัฒนาเชื้อเพลิงที่ยั่งยืน 100% รวมถึงตั้งเป้าลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว พร้อมทั้งหาวิธีการเดินทางและระบบลอจิสติกส์ของการแข่งขัน โดยฟอร์มูล่าวันตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2030
ที่มา: Formula 1 , The Athletic , Sustainabilitymag , The Vasity
ข่าวที่เกี่ยวข้อง