svasdssvasds

งานวิจัย พบ มนุษย์ทำนกสูญพันธุ์แล้วกว่า 1,400 สปีชีส์ และจะเพิ่มอีกเรื่อย ๆ

งานวิจัย พบ มนุษย์ทำนกสูญพันธุ์แล้วกว่า 1,400 สปีชีส์ และจะเพิ่มอีกเรื่อย ๆ

ในแต่ละปีมีจำนวนนกที่ถูกฆ่าจำนวน 500 ถึง 1 พันล้านตัว โดยน้ำมือมนุษย์ สอดรับกับการศึกษาใหม่ ที่บอกว่า ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มนุษย์ทำนกสูญพันธุ์ไปแล้วกว่า 1,4000 สายพันธุ์ เรื่องราวเป็นอย่างไร ติดตามได้ที่บทความนี้

ว่าด้วยเรื่องนก...

มีคำกล่าวที่ว่า “บางทีเราอาจต้องการนก มากกว่าที่นกต้องการเรา” ในความหมายคือ นกสามารถสร้างอรรถประโยชน์ให้กับมนุษย์ได้หลายเหลี่ยมมุม ไม่ว่าจะทั้งทางตรงหรือทางอ้อม อาทิเช่น ช่วยทำหน้าที่เป็นตำรวจตรวจจับศัตรูพืช

กลับกัน หากเรามองในมุมของนก พวกมันจะต้องการมนุษย์หรือเปล่า ชักไม่แน่ใจเหมือนกัน เพราะดูจากสถิติแล้ว พบว่า มีนกจำนวนตั้งแต่ 500 ถึง 1000 ล้านตัวถูกฆ่าในหนึ่งปี อันเนื่องมาจากฝีมือของมนุษย์ อาทิ ปัญหาจากโครงสร้างพื้นฐานที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็น สะพาน อาคาร สายไฟ เป็นต้น

มนุษย์นั้นเป็นต้นเหตุที่ทำให้ประชากรนกบนโลกสูญพันธุ์ไปแล้ว 1,430 สายพันธุ์ Cr. Reuters

ตัวเลขการสูญเสียประชากรดังกล่าว สอดรับกับการศึกษาชิ้นใหม่ ที่ถูกตีพิมพ์ผ่านวรสาร Nature Communications โดยระบุว่า มนุษย์นั้นเป็นต้นเหตุที่ทำให้ประชากรนกบนโลกสูญพันธุ์ไปแล้ว 1,430 สายพันธุ์ (ปัจจุบันนี้ มีทั้งเหลือทั้งหมดบนโลกประมาณ 18,000 สายพันธุ์ ข้อมูลจาก Science Daily)

คำถามถัดมาคือ นักวิทยาศาสตร์รู้ได้อย่างไร?

ในกระบวนการรวบรวมข้อมูลที่ถูกระบุไว้คือ ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อคำนวณข้อมูลย้อนหลังกลับไปในอดีต ร่วมกันกับการสังเกตและซากฟอสซิลนก แสดงให้เห็นว่า นับตั้งแต่สิ้นสุดยุคไพลสโตซีน (Pleistocene) เป็นต้นมา มีนกสูญพันธุ์ไปแล้วกว่า 600 สายพันธุ์

ปูพื้นก่อนว่า ยุคไพลสโตซีน คือโลกของเราเมื่อประมาณ 1.8 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า เผ่าพันธุ์มนุษย์เริ่มกระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อนกบนเกาะ หรือนกในท้องถิ่นอย่างมีนัยสำคัญ

ยุค Pleistocene Cr. National Park Service

3 สาเหตุหลักที่คาดว่าคร่าชีวิตนกไปอย่างมหาศาล

  • ถูกล่า

ต่อเนื่องมาจากที่เกริ่นไว้ข้างต้น เหตุผลหลักเหตุผลแรกก็ไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อน ที่นกหาย-ตาย ก็เพราะถูกล่า เราจินตนาการกันไม่ออกแน่ ๆ ว่า สมัยก่อนมีนกโบราณมากมายขนาดไหนที่เคยมีชีวิตอยู่บนโลก แต่ปัจจุบันไม่มีให้เห็นแล้ว

แน่นอนว่า การอพยพ ย้ายถิ่นของมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญ ในยุคแรก ๆ นกอาจถูกมองเป็นอาหารชนิดหนึ่ง มนุษย์ล่านกเพื่อนำมาบริโภค แต่มนุษย์ยุคหลัง ๆ แรงจูงใจในการล่านกอาจเปลี่ยนแปลงไป

การล่านกทำนกสูญพันธุ์ไปจากโลกแล้วนับไม่ถ้วน Cr. GovDelivery

มีข่าวคราวให้เห็นกันอยู่ทุกปี เรื่องการลักลอบค้านกหายาก หรือนกสวย แล้วซื้อขายกันผ่านตลาดมืด หรือบางทีก็ทำกันอย่างโจ่งแจ้ง แม้จะเป็นสัดส่วนที่ไม่เยอะเท่าการล่าเพื่อไปบริโภค แต่ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่า มีนกจำนวนไม่น้อยที่ต้องสูญพันธุ์ไปจากโลก

นกติดกับดักของมนุษย์ Cr. Reuters

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เราขอยกตัวอย่างกรณีของ นกโดโด (Dodo) ที่ได้รับการบันทึกว่าเคยอาศัยอยู่แถบหมู่เกาะมอริเซียส (Mauritius) ในมหาสมุทรอินเดีย ปัจจุบัน นกโดโดไม่มีให้เห็นแล้ว เพราะสูญพันธุ์ไปตั้งแต่ 200 ปีก่อน

นกโดโดสูญพันธุ์ไปตั้งแต่ 200 ปีก่อน Cr. Rawpixel

  • นกตัวใหญ่มีแนวโน้มถูกล่าเยอะกว่านกตัวเล็ก

อีกหนึ่งสาเหตุก็สืบเนื่องมาจากหัวข้อแรกนั่นคือการ “ล่า” ข้อมูล ระบุว่า นกที่มีขนาดตัวใหญ่ ง่ายและเสี่ยงต่อการถูกล่าจากมนุษย์ ง่ายกว่านกตัวเล็ก

หากเรามองในแว่นของมนุษย์ วัตถุใหญ่ ๆ มักสร้างพื้นที่โอกาสให้เราล่าได้ง่ายกว่านกตัวเล็กอย่างแน่นอน เพราะนกตัวใหญ่มักไม่คล่องแคล่วว่องไว แถมง่ายต่อการสังเกต จึงเป็นเหตุให้ นักวิทยาศาสตร์ ระบุว่า ไซส์นกก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่นกสูญพันธุ์เช่นเดียวกัน

นกไซส์ใหญ่มีแนวโน้มถูกล่าได้ง่ายกว่านกไซส์เล็ก Cr. Bird Academy

  • นกที่บินไม่ได้

เอาตาม common sense ของเรา คุณคิดว่า นกที่มีปีกแต่ไม่มีความสามารถในการบินจะเป็นนกกลุ่มแรก ๆ ที่สูญพันธุ์จริงหรือ สมมติคุณยืนอยู่ในพื้นที่ป่าแห่งหนึ่ง บริเวณนั้น มีนกทั้งหมดสามตัวได้แก่ นกตัวเล็ก นกตัวใหญ่ และนกที่บินไม่ได้ ในฐานะนักล่าคุณจะเล็งอาวุธไปที่นกตัวใด

ทั้งนี้ ต้องบอกว่าปัจจัยเรื่องบินได้ / บินไม่ได้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญคือ สภาพแวดล้อม ณ พื้นที่นั้น ๆ ว่าเหมาะสมกับนกแต่ละชนิดมากน้อยแค่ไหน เพราะต่อให้เป็นนกไซส์เล็ก บินได้คล่องแคล่วเล็ดรอดสายตามนุษย์ไปได้ แต่เป็นปรปักษ์กับสภาพอากาศ ก็ไม่วายต้องสูญพันธุ์อยู่ดี

นกช่วยเสริมสร้างระบบนิเวศได้อย่างไร?

อรรถประโยชน์ของนกนั้นมีมากมายหลายข้อ หลากหลายเหลี่ยมมุม ข้อมูลจาก Bird Life ระบุว่า นกช่วยกินแมลง (ศัตรูพืช) มากถึง 400 – 500 ล้านตันต่อปี

นอกจากนี้ นกบางชนิดยังสามารถช่วยพืชช่วยผสมเกสรอีกด้วย อาทิ นกฮัมมิ่งเบิร์ด หนึ่งเรื่องที่พอจะฉายภาพความสำคัญของนกต่อดอกไม้ได้ดีคือ ดอกระฆัง ที่เกาะฮาวาย จำต้องสูญพันธุ์ไปพร้อม ๆ กับ นกที่ช่วยผสมเกสรที่สูญพันธุ์ไปแล้วเช่นกัน

นกช่วยกินแมลง (ศัตรูพืช) มากถึง 400 – 500 ล้านตันต่อปี Cr. Needpix / martinsrauska

อีกหนึ่งบทบาทของนกคือ ช่วยนำเมล็ดพันธุ์ของพืชกระจายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ที่นกบินไปถึง ยกตัวอย่างเช่น ที่ประเทศนิวซีแลนด์ เมล็ดของพืชกว่า 70% ถูกกระจายไปทั่วพื้นที่โดยนก  

ทั้งนี้ จำนวนประชากรของนกที่ลดฮวบลงอย่างน่าใจหายนั้น เกิดจากหลากหลายปัจจัยดังที่กล่าวไป ทางที่ดี มนุษย์ในฐานะนักล่าเบอร์ 1 หากสามารถลดตัดปัญหาการล่านกลงได้ ก็พอจะช่วยลดจำนวนการสูญพันธุ์ของนกลงได้

นกช่วยพืชบางชนิดผสมเกสรได้ Cr. Flickr / Charlie Marshall

ทว่า ปัจจัยเรื่องสภาพแวดล้อม ก็ยังถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างมาก ในการตัดสินว่า นกแต่ละสายพันธุ์จะอยู่รอดต่อไปหรือไม่ ยิ่งในปีที่ผ่านมา โลกนั้นทำลายสถิติร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งในเร็ว ๆ นี้คงมีรายงานผลกระทบที่นกได้รับออกมาให้เห็นกันอย่างแน่นอน

 

 

ที่มา: birdlife , creaf , smithsonionmagazine

เนื้อหาที่น่าสนใจ

related