นักวิชาการร่วมกันแถลงการขุดพบซากฟอสซิล อัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่ของโลกชื่อว่า อัลลิเกเตอร์ มูลเอนซิส (Alligator munensis) หรืออัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล
ในช่วง 13.00 นาฬิกา ของวันนี้ นายฐิติพันธ์ จูจันทร์โชติ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี นายปรีชา สายทอง ผอ.กองคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แถลงผลการศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพย์ของอัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่ของโลก ที่ถูกขุดพบที่ประเทศไทย
โดยอัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่ของโลกที่ถูกขุดพบนั้นมีชื่อว่า “อัลลิเกเตอร์ มูลเอนซิส (Alligator munensis) หรืออัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล ถูกขุดพบที่ ตำบลใหม่ อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ภายในบริเวณบ่อเลี้ยงปลาของ นายสมพร โนกลาง
ซึ่งเศษซากกระดูกส่วนใหญ่ที่ขุดขึ้นมาได้ อยู่ในสภาพที่แตกหัก และไม่สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ แต่ชิ้นส่วนที่สมบูรณ์ก็คือ ชิ้นส่วนกะโหลกของอัลลิเกเตอร์ ซึ่งอยู่ลึกลงไปจากผิวดินประมาณ 2 เมตร มีขนาดความกว้าง 8 เมตร ความยาว 8.4 เมตร และความลึกประมาณ 2 เมตร
โดยสันนิษฐานว่า น่าจะมีอายุอยู่ไม่เกินช่วงสมัยไพลสโตซีนตอนกลาง หรือประมาณ 230,000 ปีก่อน หรืออาจมีอายุอ่อนกว่านั้น ซึ่งได้รับการยืนยันแล้วว่าเป็น ‘อัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่ของโลก’
หากใครแยกไม่ออกว่า จระเข้กับอัลลิเกเตอร์แตกต่างกันอย่างไร มีวิธีสังเกตง่าย ๆ ดังนี้ ถ้าเป็นอัลลิเกเตอร์ จะมีจะงอยปากเป็นรูปตัวยู ในขณะที่จระเข้จะมีจะงอยปากที่เรียวแหลมเป็นรูปตัววี
และอีกหนึ่งความแตกต่างก็คือ ถ้าปิดปากของจระเข้ลง จะเห็นทั้งฟันบนและฟันล่างได้อย่างชัดเจน ขณะเดียวกัน ถ้าปิดปากอัลลิเกเตอร์ อาจจะเห็นได้เฉพาะฟันบน หรือแทบจะไม่เห็นเลย
ปัจจุบัน จำนวนประชากรของจระเข้ยังมีมาก กระจายกันอยู่บริเวณต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาคของโลก ทว่า อัลลิเกเตอร์ ที่ยังหลงเหลืออยู่ในโลกมีเพียงแค่ 2 สายพันธุ์เท่านั้นได้แก่
อัลลิเกเตอร์อเมริกา (Alligator mississippiensis) สามารถพบได้เฉพาะบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกาและอีกสายพันธุ์คือ อัลลิเกเตอร์จีน (Alligator sinensis) สามารถพบได้เฉพาะบริเวณลุ่มน้ำแยงซี ประเทศจีน
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการขุดพบเศษซากของอัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่ ก็ไม่ได้เปลี่ยนความจริงที่ว่า อัลลิเกเตอร์ ถือเป็นสัตว์เลื้อยคลานประเภทหนึ่ง ที่มีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์สูง