svasdssvasds

นักวิจัยไทยเจ๋ง พบฟอสซิลไข่พยาธิในอึจระเข้โบราณ

นักวิจัยไทยเจ๋ง พบฟอสซิลไข่พยาธิในอึจระเข้โบราณ

หนึ่งในการค้นพบด้านบรรพชีวินครั้งสำคัญของไทย นักวิจัยจากศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวิทยา ม.มหาสารคาม พบฟอสซิลไข่พยาธิ หนึ่งในซากดึกดำบรรพ์ที่หายากระดับ “แรร์ไอเทม”

ใครจะไปคิดว่าไข่พยาธิจะเป็นฟอสซิลได้ แถมยังพบในไทยโดยนักวิจัยไทยอีกต่างหาก เมื่อไม่นานมานี้ สำนักข่าวต่างประเทศอย่าง CNN รายงานการค้นพบฟอสซิลไข่พยาธิ อายุมากกว่า 200 ล้านปี จากมูลของสัตว์เลื้อยคลานคล้ายจระเข้ในประเทศไทย จากงานวิจัยล่าสุดที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร PLOS ONE โดย ดร.ธนิศ นนท์ศรีราช จากศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวิทยา ม.มหาสารคาม และคณะ (2023)

แม้ในปัจจุบันเราสามารถพบพยาธิได้ทั่วไปในหลายระบบนิเวศ อย่างไรก็ตามการศึกษาบรรพบุรุษของพยาธินั้นเป็นเรื่องท้าทาย เนื่องจากพยาธิเป็นหนึ่งในซากดึกดำบรรพ์ที่หายากระดับ “แรร์ไอเทม” เพราะโครงร่างอ่อนหรือเนื้อเยื่อส่วนใหญ่มักจะไม่ถูกแปรสภาพเป็นซากดึกดำบรรพ์

ด้วยเหตุนี้ทีมวิจัยจึงได้นำมูลสัตว์โบราณยุคไทรแอสซิกตอนปลาย (Late Triassic) ในหมวดหินห้วยหินลาด ที่พบใน จ.ชัยภูมิ มาศึกษาด้วยการนำไปตัดและติดกระจกสไลด์จากนั้นศึกษาภายใต้กล้องจุลทรรศน์ จึงได้พบกับฟอสซิลขนาดจิ๋ว ลักษณะทรงกลมรี ขนาดประมาณ 50-140 ไมโครเมตร ซึ่งสามารถระบุได้ว่าเป็นไข่ของพยาธิหนอนตัวกลม (nematode) จากลักษณะของเปลือกที่หนาและมีเอ็มบริโอภายใน

ฟอสซิลไข่พยาธิ   ที่มาภาพ: ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ในขณะที่โครงสร้างอื่น ๆ ที่พบในมูลสัตว์โบราณชิ้นนี้มีลักษณะไม่ชัดเจน ซึ่งอาจเป็นโปรตัวซัว (protozoa) หรือไข่พยาธิกลุ่มใหม่ที่ยังไม่มีการค้นพบมาก่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทีมนักวิจัยยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มูลสัตว์โบราณ หรืออึดึกดำบรรพ์ (coprolite) คือเศษกากของสิ่งมีชีวิตที่เป็นเหยื่อที่ไม่สามารถย่อยได้ ถูกขับออกมา ผ่านกระบวนการทับถมและแปรสภาพเป็นซากดึกดำบรรพ์

สำหรับมูลสัตว์โบราณที่นำมาศึกษาเป็นทรงกระบอกเรียวโค้งเล็กน้อยผิวเรียบ มีสีดำเนื้อละเอียดและไม่พบเศษกระดูกของเหยื่อภายใน เมื่อเปรียบเทียบพบว่าเป็นลักษณะมูลของสัตว์เลื้อยคลานยุคไทรแอสซิกตอนปลายที่มีสายวิวัฒนาการร่วมกับจระเข้ (crocodile-like animals)

ฟอสซิลไข่พยาธิพบในอึโบราณของจระเข้ยุคดึกดำบรรพ์  ที่มาภาพ: ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

การศึกษาครั้งนี้นับเป็นการค้นพบไข่พยาธิดึกดำบรรพ์ในมูลของสัตว์มีกระดูกสันหลังครั้งแรกในทวีปเอเชีย ซึ่งมีส่วนที่สำคัญในการสร้างความเข้าใจเรื่องความหลากหลายและความสัมพันธ์แบบปรสิต (Parasitism) ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศยุคโบราณ โดยไข่พยาธิที่มีลักษณะสัณฐานแตกต่างกันในมูลสัตว์โบราณเพียงหนึ่งชิ้น อาจเกิดจากสิ่งมีชีวิตที่เป็นเหยื่อเป็นพาหะโดยมีพยาธิอยู่ในร่างกายแล้วก่อนถูกล่าในเวลาต่อมา

related