สำนักข่าวซินหัวรายงานถึงการค้นพบซากฟอสซิลสัตว์ขาปล้องที่อาศัยอยู่ในน้ำจืด มีลักษณะคล้ายแมลงมีหนามแหลมรอบลำตัว อายุราว 420 ล้านปี ซึ่งเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบในจีน
ทีมนักวิจัยของจีนและสหราชอาณาจักรค้นพบซากฟอสซิลสัตว์ขาปล้องที่อาศัยอยู่ในน้ำจืดและมีเดือยแหลมในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน โดยทีมนักวิจัยจากสถาบันธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาหนานจิง สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน ระบุว่านี่เป็นซากฟอสซิลลำตัวสัตว์ขาปล้องน้ำจืดเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบในจีน โดยมีอายุราว 420 ล้านปี ซึ่งสัตว์ขาปล้องชนิดนี้มีชื่อว่า “Maldybulakia saierensis” ลักษณะเหมือนแมลงมีหนามแหลมรอบลำตัวที่แบ่งเป็นหลายส่วนอย่างสมมาตรทั้งสองด้าน ส่วนหางงอกยาวเรียวแหลม
เนื้อหาที่น่าสนใจ :
การศึกษาพบ สัตว์น้ำกำลังสูญพันธุ์กว่า 40% ภายในศตวรรษนี้ แก้ไขไม่ทันแล้ว
สรุปให้! นักดำน้ำคร่าชีวิตปลาวัวไททัน ปลาวัวไททันดุร้ายจริงไหม?
ออสเตรเลีย ประกาศห้ามใช้ อวนจับปลา เพื่อปกป้องประชากรตุ่นปากเป็ดและเต่า
ทีมนักวิจัยได้วิเคราะห์ระดับความเค็มและข้อมูลอื่นๆ ของจุดที่ค้นพบซากฟอสซิลนี้ และสรุปว่าสัตว์ขาปล้องน้ำจืดชนิดนี้อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมน้ำจืด เช่น แม่น้ำหรือทะเลสาบตามเทือกเขา โดยสวีหงเหอ ผู้เขียนงานวิจัยจากสถาบันฯ กล่าวว่าสัตว์ขาปล้อง (arthropod) เป็นไฟลัมขนาดใหญ่ที่สุดในอาณาจักรสัตว์ ตั้งแต่กุ้งและปูในทะเลและน้ำจืดจนถึงยุง แมลงวัน และแมงมุมบนบก
ผู้เขียนงานวิจัยจากสถาบันธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาหนานจิง ยังกล่าวอีกว่า การอุบัติขึ้นมาของสัตว์ขาปล้องน้ำจืดเป็นจุดเชื่อมการเปลี่ยนแปลงสำคัญในการ “ขึ้นบก” ของสัตว์ทะเล โดยการค้นพบนี้เป็นหลักฐานสำคัญเพื่อทำความเข้าใจวิธีที่สัตว์ย้ายจากมหาสมุทรขึ้นมาบนบก
ที่มา : Xinhua Thai