กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ระบุ แม้การดำเนินการตามแผนจัดการขยะพลาสติกในระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 –2565) จะยังไม่เห็นผลลัพธ์ชัดเจนเท่าที่ควร แต่ภาครัฐกำลังเร่งยกระดับความเข้มข้นการจัดการขยะพลาสติกในระยะที่ 2 ที่เริ่มต้นขึ้นในปีนี้
มลพิษขยะพลาสติกถือเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมสำคัญของประเทศ รายงานสถานการณ์ขยะมูลฝอยในประเทศปี 2564 ของกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่ามีขยะมูลฝอยเกิดขึ้น 24.98 ล้านตัน พบขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียว (Single-use Plastics) จำพวกถุงพลาสติกมากที่สุด อาทิ ถุงร้อน ถุงเย็น ถุงหูหิ้ว โดยขยะพลาสติกเหล่านี้ ได้รับการกำจัดอย่างไม่ถูกต้องเป็นจำนวนถึง 7.81 ล้านตัน
แม้ว่าไทยได้เริ่มดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติกมาตั้งแต่ปี 2563 รวมถึงได้มีมติคณะรัฐมนตรี อนุมัติการแบนพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียว 4 ประเภทอย่างเด็ดขาดภายในประเทศภายในปี 2565 ได้แก่
แต่จนถึงบัดนี้เรากลับยังไม่เห็นความคืบหน้าชัดเจนภายใต้แผนปฏิบัติการดังกล่าว พลาสติกที่ตั้งเป้าว่าจะเลิกใช้ตั้งแต่ปี 2565 ยังคงพบเห็นได้ทั่วไป ซ้ำปัญหาขยะพลาสติกในประเทศก็ดูไม่มีทีท่าที่จะกระเตื้องขึ้น
จากสถานการณ์ขยะพลาสติกที่ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ Springnews ได้สอบถามไปยังอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ปิ่นสักก์ สุรัสวดี ถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก และแผนการดำเนินการในอนาคตภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติกระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570)
ทำไมขยะพลาสติกยังคงเกลื่อนกลาด
ปิ่นสักก์ ยอมรับว่า การดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติกระยะที่ 1 ยังคงไม่ตรงตามเป้าเท่าที่ควร ทั้งจากการละเลยการจัดการขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการผ่อนผันมาตรการแบนพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียว 4 ประเภท เป็นการใช้มาตรการเชิงสมัครใจแทน จนทำให้ดูเหมือนว่าแผนปฏิบัติการลดขยะพลาสติกไร้ความคืบหน้า
อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า ผลจากมาตรการส่งเสริมการนำขยะพลาสติกกลับไปใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และการรณรงค์ลดการใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียว ทำให้โดยภาพรวมแล้ว สถานการณ์ขยะพลาสติกในประเทศมีแนวโน้มดีขึ้น ปริมาณการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้งลดลง และยังมีการจัดการขยะพลาสติกให้สามารถนำไปจัดการอย่างเหมาะสมได้มากขึ้น
โดยจากข้อมูลการประเมินผลการดำเนินงานตามเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการฯ จนถึงปี 2564 ร่วมกับสถาบันพลาสติก พบว่า ในส่วนของเป้าหมายที่ 1 การลดเลิกใช้พลาสติกเป้าหมายชนิดใช้ครั้งเดียว ในปี 2564 สามารถดำเนินการได้ร้อยละ 42 เมื่อเทียบกับข้อมูลปีฐาน สามารถลดขยะพลาสติกได้ 160,176 ตัน
สำหรับในส่วนของ เป้าหมายที่ 2 การนำพลาสติกเป้าหมายภายในประเทศกลับไปใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สามารถดำเนินการได้ร้อยละ 25 (เมื่อเทียบกับข้อมูลปีฐาน) ผลิตภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ประโยชน์มากที่สุดคือ ขวดพลาสติก รองลงมาคือ บรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติก โดยสามารถนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ถึง 352,916 ตัน
“สำหรับการลดละเลิกใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งที่แต่เดิมมาตรการสมัครใจ เป็นเพราะเรายังไม่มีกฎหมายที่จะนำมาบังคับใช้ ดังนั้นในขณะนี้เราจึงเตรียมเสนอกฎหมายใหม่ 2 ฉบับ เพื่อนำมาเป็นข้อบังคับในการลดละเลิกใช้พลาสติกบางประเภท โดยเฉพาะในบรรจุภัณฑ์ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนร่างกฎหมาย” ปิ่นสักก์ กล่าว
เผยแผนจัดการขยะพลาสติกเฟส 2
ปิ่นสักก์ เปิดเผยว่า ในขณะนี้ประเทศไทยได้เริ่มต้นดำเนินการแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติกระยะที่ 2 โดยในแผนดังกล่าว ได้มีการปรับปรุงและออกแบบมาตรการการจัดการขยะพลาสติกให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากบทเรียนการจัดการขยะพลาสติกที่ผ่านมาทั้งในไทยและต่างประเทศ
โดยในแผนปฏิบัติการฯ นี้ มีกรอบแนวคิดการจัดลำดับความสำคัญของการจัดการขยะรูปแบบใหม่และการบริหารจัดการขยะตามวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ใน 4 ขั้นตอน ได้แก่ การจัดการ ณ ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง และการพัฒนาเครื่องมือบริหารจัดการขยะพลาสติก พร้อมกำหนดมาตรการหลัก 4 ข้อคือ
สำหรับแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566-2570) มีเป้าหมายหลักคือ ลดปริมาณขยะพลาสติกเป้าหมายที่เข้าสู่ระบบฝังกลบขยะให้ได้เป็นศูนย์ และนำผลิตภัณฑ์พลาสติกเป้าหมายเข้าสู่ระบบรีไซเคิลให้ได้ 100% รวมถึงลดปริมาณขยะพลาสติกที่มีโอกาสหลุดรอดลงสู่ทะเล 50% โดยทั้งหมดจะต้องมีเครื่องมือในการบริหารจัดการขยะพลาสติก 10 ประเภทตามที่กำหนดในแผนปฏิบัติการฯ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง