นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ กินปลาจากฟุกุชิมะโชว์ ยืนยันอาหารทะเลปลอดภัยแน่นอน แม้มีการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีลงสู่มหาสมุทรก็ตาม
ภายหลังรัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วกว่า 1 ล้านตันลงสู่มหาสมุทร เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้เกิดกระแสตื่นกลัวการปนเปื้อนกัมมันตรังสีในอาหารทะเลจากญี่ปุ่นไปทั่วโลก โดยเฉพาะอาหารทะเลจาก จ.ฟุกุชิมะ ที่ตั้งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ที่เกิดเหตุหลอมละลายนิวเคลียร์
ดังนั้นเพื่อสร้างความมั่นใจแก่สาธารณชนต่อความปลอดภัยของอาหารทะเลญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ และรัฐมนตรีอีกหลายท่าน จึงได้ร่วมรับประทานอาหารจากปลาทะเลที่มาจาก จ.ฟุกุชิมะ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นสาธารณชนกลับมา
รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ยาสึโตชิ นิชิมูระ กล่าวว่า อาหารที่นำมาเสิร์ฟบนโต๊ะอาหารนายกรัฐมนตรี ประกอบไปด้วย ปลากะพง ปลาตาเดียว และปลาหมึก และรับประทานพร้อมกับข้าวสวยจาก จ.ฟุกุชิมะ
“เราต้องการที่จะสื่อให้ผู้คนทั้งในประเทศและทั่วโลกรับรู้ว่าอาหารทะเลญี่ปุ่นนั้นปลอดภัยต่อการบริโภค” นิชิมูระ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เริ่มแล้ว ! ญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียที่บำบัด ชุดแรกสู่มหาสมุทรมากกว่าล้านตัน
นักวิชาการห่วงกัมมันตรังสีตกค้างในปลา เหตุญี่ปุ่นปล่อยน้ำปนเปื้อนลงทะเล
เชฟร้านญี่ปุ่นไม่ห่วง (เท่าใดนัก) ผลพวงปล่อยน้ำเปื้อนรังสีฟุกุชิมะ
นอกจากนี้ เขายังกล่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังเตรียมออกนโยบายช่วยเหลือชาวประมงท้องถิ่น ที่ขณะนี้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการที่ผลผลิตประมงไม่สามารถขายออกได้ เนื่องจากกระแสแบนอาหารทะเลญี่ปุ่นจากหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน ที่เป็นหัวหอกผู้คัดค้านการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีลงทะเล ที่ได้ออกมาตรการแบนสินค้าประมงจากประเทศญี่ปุ่น นับตั้งแต่มีการปล่อยน้ำปนเปื้อนที่บำบัดแล้วลงสู่ทะเล
อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสนใจว่า นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น หันมาใช้กลยุทธเดียวกับผู้นำประเทศหลายๆ คน ที่เคยออกมากินอาหารโชว์สื่อ เพื่อเรียกความมั่นใจจากผู้บริโภคกลับมา โดยก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดียุล ซอกยอล แห่งเกาหลีใต้ ได้ออกสื่อทานอาหารทะเลเพื่อเรียกความมั่นใจกรณีความปลอดภัยอาหารทะเลจากการปนเปื้อนกัมมันตรังสีมาแล้ว
และหากนับย้อนไปอีกในอดีต กลยุทธนี้ก็เคยถูกนำมาใช้โดยอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ที่เคยออกมารับประทานไก่โชว์สื่อ เมื่อคราวประเทศไทยได้รับผลกระทบจากโรคไข้หวัดนกเมื่อปี 2547
ที่มาข่าว: Nikkei Asia
ที่มาภาพ: รอยเตอร์ / ANNnewsCH