เชฟร้านอาหารญี่ปุ่นเผย ผู้บริโภคคนไทยไม่ต้องกังวลผลกระทบปลาปนเปื้อนรังสีนัก เพราะร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบจากหลายแหล่ง แต่ก็ควรระวังหลีกเลี่ยงรับประทานปลาหน้าดินและหอยจากญี่ปุ่น
วันนี้แล้ว (24 สิงหาคม 2566) ที่ญี่ปุ่นเริ่มดำเนินการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก อย่างไรก็ตามจากการพูดคุยกับ เชฟธนิสร วศิโนภาส เชฟและเจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่น Kensaku ในกรุงเทพมหานคร เผยว่า ผู้บริโภคชาวไทยไม่ต้องเป็นกังวลมากเกินไปต่อเรื่องการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในปลาและอาหารทะเลนัก แต่ก็ไม่ควรประมาทวัตถุดิบบางอย่างที่มาจากญี่ปุ่น
เชฟธนิสร กล่าวว่า จากประสบการณ์ในวงการร้านอาหารญี่ปุ่น ร้านอาหารญี่ปุ่นส่วนใหญ่ในไทย ยกเว้นร้านประเภทโอมากาเสะที่นิยมใช้ปลานำเข้าจากญี่ปุ่น มักจะใช้วัตถุดิบน้ำเข้าจากหลากหลายแหล่งทั่วโลก เช่น ปลาแซลมอนจากนอร์เวย์ หรือปลาแช่แข็งจากทะเลจีน ดังนั้นผู้บริโภคส่วนใหญ่จึงไม่ต้องกังวลเกินไปนัก
อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า ถึงแม้ว่าทางการญี่ปุ่นจะย้ำว่าน้ำปนเปื้อนรังสีที่จะถูกปล่อยออกมาจะได้รับการบำบัดจนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานแล้ว แต่เขาก็ยังกังวลต่อความเสี่ยงที่จะยังมีสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนในสัตว์น้ำบางชนิดจากญี่ปุ่นอยู่ดี
“ตำแหน่งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ตั้งอยู่บนชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของภูมิภาคคันโต ขณะนี้กำลังเข้าสู่ช่วงปลายปี ซึ่งกระแสน้ำในบริเวณนอกชายฝั่งฟุกุชิมะจะเป็นกระแสน้ำเย็นที่จะไหลลงมาจากทางขั้วโลกเหนือ ดังนั้นทะเลแถบคันโตไล่ลงมาจนถึงโตเกียวจึงน่าจะเป็นจุดที่ได้รับผลกระทบที่สุดจากน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี เมื่อคำนึงถึงทิศทางกระแสน้ำ” เชฟธนิสร กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เริ่มแล้ว ! ญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียที่บำบัด ชุดแรกสู่มหาสมุทรมากกว่าล้านตัน
นักวิชาการห่วงกัมมันตรังสีตกค้างในปลา เหตุญี่ปุ่นปล่อยน้ำปนเปื้อนลงทะเล
ญี่ปุ่นเคาะวันที่แล้ว! ปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีลงทะเล 24 ส.ค. นี้
นอกจากนี้ เขายังกล่าวว่า ด้วยปัจจัยถิ่นที่อยู่อาศัยและการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันของปลาและสัตว์ทะเลแต่ละประเภท ทำให้อาหารทะเลแต่ละอย่างมีความเสี่ยงปนเปื้อนกัมมันตรังสีแตกต่างกัน โดยอาหารทะเลประเภทที่เสี่ยงที่สุดคือ สัตว์จำพวกหอยและปลาหน้าดิน เช่น หอยนางรม หรือ ปลาฮิราเมะ (ปลาตาเดียว) จะมีความเสี่ยงสูงสุด เพราะสัตว์เหล่านี้มักหากินบริเวณพื้นทะเลซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสารปนเปื้อนตกค้างอยู่สูงที่สุด นอกจากนี้สัตว์จำพวกหอยยังหากินโดยการกรองน้ำทะเล ทำให้สารต่างๆ ตกค้างในเนื้อได้สูง
ส่วนประเภทอาหารทะเลที่มีความเสี่ยงรองลงมาคือ ปลาทะเลญี่ปุ่นอื่นๆ เช่น ปลาซาบะ ปลาโอ ซึ่งสามารถว่ายไปได้ไกลและไม่ได้มีแหล่งหากินเฉพาะที่ อย่างไรก็ตามผลพวงจากการปนเปื้อนในระบบนิเวศก็ทำให้สัตว์เหล่านี้มีโอกาสปนเปื้อนได้
ส่วนที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุดคืออาหารทะเลนำเข้าจากแหล่งอื่นๆ ทั่วโลก เช่น ปลาแซลมอน อย่างไรก็ตาม จากการประเมินเมื่อครั้งเกิดการรั่วไหลของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะในครั้งแรก พบว่า การปนเปื้อนกัมมันตรังสีในน้ำทะเล อาจถูกกระแสน้ำในมหาสมุทรพัดพา จนเกิดการปนเปิ้อนเป็นวงกว้างข้ามมหาสมุทร ไปไกลถึงเม็กซิโก ดังนั้นอาหารทะเลในแหล่งที่ไกลออกไป ก็อาจมีความสี่ยงปนเปื้อนได้
เชฟธนิสร กล่าวว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สังคมเกิดความตื่นตัว กังวลกับผลกระทบการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในอาหารนำเข้าจากญี่ปุ่น และไทยยังได้มีการรับนำเข้าอาหารทะเลโดยตรงจาก จ.ฟุกุชิมะ ดังนั้น เขาจึงริเริ่มเปลี่ยนวัตถุดิบที่ใช้ในร้าน โดยใช้ปลาและอาหารทะเลจากทะเลไทยมากขึ้น นำมาปรุงในแบบญี่ปุ่นจนได้รสชาติเช่นเดียวกับอาหารทะเลสดจากญี่ปุ่น
“ถามว่ากังวลกับสถานการณ์ไหม ก็ไม่กังวลนัก เพราะทางฝั่งร้านเราก็สนับสนุนการใช้วัตถุดิบภายในประเทศอยู่แล้ว” เชฟธนิสร กล่าว