วันนี้ 28 ส.ค.66 เป็นวันดี วันที่มีการจัดพิธีฮ้องขวัญ ให้“พลายศักดิ์สุรินทร์” ตามความเชื่อล้านนา ที่มีมาช้านานเพื่อความเป็นสิริมงคลให้น้องแคล้วคลาดจากภัยอันตราย
หลังจากที่ “พลายศักดิ์สุรินทร์” ได้กลับไทยแล้วก็มีการพักรักษาตัว และกักโรคมาสักระยะหนึ่งแล้ว จนวันนี้น้องอาการดีขึ้นตามลำดับ แต่ยังคงต้องรักษาต่อไป ล่าสุดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จัดพิธีฮ้องขวัญ งานเลี้ยงขันโตก ให้พลายศักดิ์สุรินทร์ ซึ่งเป็นการรับขวัญการกลับบ้านเกิดหลังจากไทย 22 ปี ที่ไปอยู่ศรีลังกา ส่วน FC สามารถเยี่ยมน้องได้ 29 ส.ค.นี้ จากนั้นจะเข้าโปรแกรมรักษา ก.ย. 66
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดบ้านใหม่ รับ “พลายศักดิ์สุรินทร์" ที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง
ภาวะกระดูกบางไม่ได้กินนมแม่ สาเหตุพลายตุลาเสียชีวิต เก็บตัวอย่างศึกษา
คืบหน้าอาการพลายศักดิ์สุรินทร์ 9 ก.ค. 66 ความสมบูรณ์ร่างกาย 3/5
วันนี้จะพามาดูว่าพิธีฮ้องขวัญ ว่าคืออะไร และทำไมจะต้องทำ โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช #เก็บมาเล่า ผ่านเพจเฟซบุ๊กว่า พิธีฮ้องขวัญเป็นความเชื่อของคนไทยในสังคมภาคเหนือที่มีมาช้านาน ทั้งชาวไทยใหญ่ ไทยลื้อ ไทยเขิน และชาวไทยภาคเหนือตอนล่างมีความเชื่อว่า “ขวัญ” เป็นสิ่งที่อยู่ในร่างกายทุกคนขวัญมีลักษณะเบา เคลื่อนไหวได้ ไม่อาจเห็นเป็นรูปเป็นร่างได้ ขวัญแฝงอยู่ในคน สัตว์และสิ่งของ เมื่อใดที่ขวัญอ่อนลงหรือหย่อนจะทำให้สภาวะของร่างกายและจิตใจของเจ้าของขวัญจะรู้สึกเสียใจ ตกใจ ท้อใจ
โดยเมื่อเจ้าของขวัญมีขวัญดีจะรู้สึกสุขสบายใจและกล้าหาญ มีพลังเต็มเปี่ยม ชาวล้านนาเรียก “ขวัญอยู่กับเนื้อกับตัว” นอกจากนี้ชาวล้านนามีคำเรียกลักษณะขวัญที่อยู่กับเนื้อกับตัวว่า “รู้คิง” หมายถึงอาการของคนที่รู้เรื่อง รู้สึกตัว มีความรู้สึกเข้าใจทุกอย่าง ทุกขณะพูดและทำการใดก็รู้สติ ขวัญเป็นพลังแฝงในจิตใจเป็นนามธรรม ดูแลควบคุมกายจิตใจและวิญญาณให้มีดุลยภาพ ขวัญของชาวล้านนาจัดแบ่งประเภทเหมือนกับคนไทยท้องถิ่นอื่น คือ มีขวัญคน ขวัญพืช ขวัญสัตว์ และขวัญสิ่งของ (บ้านเรือนและเครื่องใช้ในการเกษตร)
ชาวล้านนา มีพิธีกรรมโบราณ เรียกว่า “พิธีฮ้องขวัญ” หมายถึง พิธีเรียกขวัญให้กลับคืนสู่ร่างเดิม พิธีฮ้องขวัญเป็นการผสมผสานระหว่างความเชื่อเรื่องขวัญกับศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ และความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติ โดยพิธีฮ้องขวัญ จะทำในโอกาสที่ชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงหรือมีเหตุต้องจากบ้านไปไกล มีความเจ็บป่วยและเกิดอุบัติเหตุหรือในกรณีที่มีบุคคลสำคัญมาเยี่ยมเยือนบ้านเมือง พิธีกรรมฮ้องขวัญของชาวล้านนามักปฏิบัติร่วมกับพิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ (ส่งเคราะห์) และพิธีสืบชะตา โดยจะมีปฏิบัติต่อเนื่องกัน
โดยเริ่มจากการสะเดาะเคราะห์ การสืบชะตาและการเรียกขวัญ ซึ่งพิธีฮ้องขวัญ ยังคงปฏิบัติกันอยู่ในสังคมล้านนา ทั้งชนเผ่าชาวไทยล้านนาและชาวเหนือตอนล่าง มีบทบาทเป็นพิธีกรรมแสดงความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคม สร้างเสริมกำลังใจและขัดเกลาจริยธรรมและพฤติกรรมคนในสังคม พิธีเรียกขวัญหรือพิธีทำขวัญของชาวเหนือมีหลายลักษณะ ได้แก่ การเรียกขวัญเด็ก (การทำขวัญ) ขวัญลูกแก้ว (นาค) เป็นต้น