ปัญหาน้ำเสียยังเป็นปัญหาใหญ่ของไทยที่มองข้ามไม่ได้เลย กรมกรมควบคุมมลพิษจึงเดินหน้าติวเข้มทุกภาคส่วนดูแลแหล่งกำเนิดมลพิษดูแลระบบบำบัดน้ำเสีย กว่า 200 แห่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายพิทยา ปราโมทย์วรพันธุ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และโฆษกกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า จากปัญหาคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมในคลองแสนแสบและคลองสาขา พื้นที่กรุงเทพมหานคร คพ. ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักเกี่ยวกับการตรวจสอบ กำกับดูแล ควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ได้กำหนดแผนงาน/โครงการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษทางน้ำ มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เตือนให้ระวัง ! คุณภาพน้ำต้นฤดูฝน เสี่ยงน้ำเสียตกค้าง สิ่งปนเปื้อน เพียบ !
ส่องเทรนด์ใช้น้ำรักษ์โลก ! น้ำดื่มไร้ฉลากรีไซเคิลได้ VS ถังน้ำบำบัดน้ำเสีย
เปิด 5 นโยบายสิ่งแวดล้อมพรรคเพื่อไทย แก้น้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสีย
ทั้งนี้จากการตรวจติดตามการบังคับใช้กฎหมายพบว่า แหล่งกำเนิดมลพิษที่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายในการระบายน้ำทิ้งที่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดมีเพียงร้อยละ 30 ส่วนที่เหลืออีกกว่าร้อยละ 70 ไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดได้ เนื่องจาก ระบบบำบัดน้ำเสียขาดการดูแลและบำรุงรักษาที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ส่งผลให้แหล่งกำเนิดมลพิษเหล่านั้นยังคงมีภาระผูกพันทางกฎหมาย และมีหน้าที่ที่ต้องปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียจนกระทั่งระบบสามารถบำบัดน้ำเสียได้ตามมาตรฐาน
นายพิทยา กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาน้ำเสียให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและยั่งยืน จำเป็นอย่างยิ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องทำการบำบัดน้ำเสียให้เป็นไปตามมาตรฐานน้ำทิ้งก่อนระบายออกสู่สิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำเป็นไปตามมาตรฐานสำหรับการใช้ประโยชน์ ดังนั้น ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
คพ. จึงได้จัดการฝึกอบรมเรื่อง“การควบคุมดูแลระบบบำบัดน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพตามกฎหมาย” จำนวน 2 รุ่น เพื่อให้เจ้าของหรือ ผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษ และผู้ดูแลระบบบำบัดน้ำเสีย มีความเข้าใจในขั้นตอนการปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม และสามารถดูแลปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียให้สามารถบำบัดน้ำเสียให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป็นการส่งเสริมแหล่งกำเนิดมลพิษ ให้สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง โดยจัดขึ้นในวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 และวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 มีสถานประกอบการประเภทโรงแรม อาคารชุด โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า และที่ดินจัดสรร เข้าร่วมมากกว่า 200 แห่ง
ขอชื่นชมและขอบคุณสถานประกอบการที่ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่งในการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย และพร้อมที่จะขับเคลื่อนกลไกการจัดการน้ำเสียของประเทศไทยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ