กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ออกโรงเตือนปัญหาคุณภาพน้ำช่วงต้นฤดูฝน ให้ประชาชนระมัดระวัง น้ำเสียตกค้าง สิ่งปนเปื้อนอยู่ในท่อระบายน้ำเสีย รวมถึงน้ำชะล้างจากพื้นที่เกษตร ปนเปื้อนสารเคมี และวัตถุอันตราย อาจทำให้คุณภาพน้ำเกิดการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน และเป็นอันตรายต่อประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิทยา ปราโมทย์วรพันธุ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และโฆษกกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน โดยในช่วงต้นฤดูฝนจะมีการชะล้างสิ่งปนเปื้อนต่างๆ ลงสู่แหล่งน้ำ เป็นจำนวนมาก เช่น น้ำเสียที่ตกค้างอยู่ในท่อระบายน้ำเสีย น้ำชะจากพื้นที่เกษตร น้ำฝนที่ชะกองวัสดุสารเคมีและวัตถุอันตรายต่างๆ เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้คุณภาพน้ำเกิดการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน เช่น ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลง เกิดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ความเป็นกรด - ด่าง และความขุ่นของน้ำอย่างรวดเร็วหลังฝนตก เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ส่องเทรนด์ใช้น้ำรักษ์โลก ! น้ำดื่มไร้ฉลากรีไซเคิลได้ VS ถังน้ำบำบัดน้ำเสีย
เปิด 5 นโยบายสิ่งแวดล้อมพรรคเพื่อไทย แก้น้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสีย
แม็คโคร จับมือ กทม. ลด แยกขยะ พร้อมผลิตน้ำ EM ใช้บำบัดน้ำเสียในคูคลอง
ทั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศ โดยจากการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำแหล่งน้ำผิวดินทั่วประเทศ ในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายนของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูฝน พบว่า แหล่งน้ำจะอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมเพิ่มมากขึ้น หรืออยู่ในเกณฑ์แหล่งน้ำประเภทที่ 4 สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการอุตสาหกรรม ส่วนการใช้ประโยชน์เพื่อการอุปโภคและบริโภคต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรคตามปกติ และผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำเป็นพิเศษก่อน
ผลกระทบที่เกิดจากการชะล้างสิ่งปนเปื้อนในช่วงต้นฤดูฝนส่งผลให้น้ำมีความขุ่นและตะกอนแขวนลอยเพิ่มขึ้นเกิดผลกระทบต่อสัตว์น้ำ โดยเฉพาะปลาจะมีปัญหาในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนของเหงือกจนทำให้ปลาตายได้คราวละมากๆ ในระยะเวลาอันสั้นหรือที่เรียกว่าอาการน็อคน้ำ (Fish kill) ทั้งนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังควรเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสัตว์น้ำ เช่น เตรียมเครื่องตีน้ำเพื่อเพิ่มออกซิเจน โดยเมื่อฝนหยุดตกควรเปิดเครื่องตีน้ำและควรลดปริมาณอาหารให้น้อยลงหรืองดให้อาหารในวันที่ฝนตกเพื่อลดปริมาณของเสียในบริเวณกระชัง เป็นต้น
ทั้งนี้คพ. ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนในการป้องกันปัญหาคุณภาพน้ำในช่วงฤดูฝน โดยการจัดเก็บสารเคมี วัตถุอันตรายที่ใช้ในการเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบ้านเรือน ให้อยู่ในที่ปลอดภัยและพ้นน้ำ ดูแลบ่อเก็บกักน้ำเสีย/บ่อบำบัดน้ำเสียและสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย ไม่ให้เกิดการรั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำหรือออกสู่สิ่งแวดล้อม