องค์การพลังงานสากล (IEA) เผยรายงานล่าสุดรับเวที COP28 ชี้ว่า หนทางที่เราจะคุมโลกร้อนไม่ให้ทะลุเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ยังคงเป็นไปได้ด้วยการลงทุนพลังงานสะอาดอย่างเร่งด่วน
แม้ว่าควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเปรียบเทียบกับยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม จะเป็นเรื่องยากขึ้นทุกที แต่รายงานฉบับใหม่ของ IEA ที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 26 กันยายน เผยว่า การควบคุมโลกร้อนให้อยู่ภายใต้กรอบอุณหภูมิของความตกลงปารีสยังคงเป็นไปได้ ภายใต้ข้อแม้ว่า ประชาคมโลกจะต้องเร่งลงทุนเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างเร่งด่วน
ในรายงานฉบับใหม่ของ IEA เผยว่า หัวใจของการแก้โลกร้อน ยังคงอยู่ที่การเปลี่ยนผ่านพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลสู่พลังงานสะอาด โดยปัจจัยหลักที่ทำให้หนทางการแก้โลกร้อนด้วยพลังงานสะอาดยังคงเป็นไปได้ อยู่ที่ราคาต้นทุนพลังงานสะอาดที่ถูกลงเรื่อยๆ แต่อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมีความสำคัญยิ่ง ที่จะทำให้การผลักดันพลังงานสะอาดที่จำเป็นต่อการแก้โลกร้อนเกิดขึ้น
IEA ระบุว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิทัศน์พลังงานโลกที่สำคัญมากมาย ทั้งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 และการเติบโตอย่างรวดเร็วในเทคโนโลยีพลังงานสะอาด อย่างไรก็ตามก็ยังมีการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในภาคเชื้อเพลิงฟอสซิล
จากรายงาน IEA พบว่า นับตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และยอดขายรถยนต์ไฟฟ้ามีการเติบโตเป็นประวัติการณ์ ความก้าวหน้าของภาคพลังงานสะอาดดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทางสู่การลดการปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ทั่วโลกภายในกลางศตวรรษ เช่นเดียวกับการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ช่วยให้ต้นทุนราคาพลังงานสะอาดถูกลงและเข้าถึงคนหมู่มากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
IEA คาดการณ์ว่า การเติบโตจากภาคการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และรถยนต์ไฟฟ้า ถือเป็นส่วนสำคัญที่สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้หนึ่งในสามระหว่างวันนี้ถึงปี 2030
อย่างไรก็ตาม IEA ย้ำว่า ถ้าจะคุมสภาวะโลกร้อนให้อยู่หมัด การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานอย่างเร่งด่วนต้องเริ่มขึ้นภายในช่วงทศวรรษนี้
“การรักษาเป้าหมายในการจำกัดภาวะโลกร้อนให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ต้องการความร่วมมือในระดับโลกอย่างพร้อมเพรียงและรวดเร็ว ข่าวดีก็คือ เรารู้ว่าเราต้องทำอะไร และทำอย่างไร แผนงาน Net Zero ปี 2023 ของเราซึ่งอิงตามข้อมูลและการวิเคราะห์ล่าสุด แสดงให้เห็นหนทางข้างหน้า” ฟาติห์ บิรอล กรรมการบริหารของ IEA กล่าว
“แต่เราก็มีข้อความที่ชัดเจนเช่นกัน ความร่วมมือระหว่างประเทศที่แข็งแกร่งเป็นสิ่งสำคัญต่อความสำเร็จ รัฐบาลจำเป็นต้องแยกสภาพภูมิอากาศออกจากภูมิรัฐศาสตร์ เมื่อคำนึงถึงขนาดของความท้าทายที่มีอยู่”
ด้านไกซา โคโซเนน ผู้ประสานงานฝ่ายนโยบาย กรีนพีซ สากล กล่าวว่า ขณะนี้ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญแห่งประวัติศาสตร์ เพราะเรามีเครื่องไม้เครื่องมือทุกอย่างที่จำเป็นต่อการปลดแอกเชื้อเพลิงฟอสซิลที่กำลังสุมไฟให้โลกเดือดอยู่ในขณะนี้ แต่กลับไม่มีการตัดสินใจใดๆ เลยที่จะลงมือทำจริงๆ ดังนั้นการประชุมสุดยอดโลกร้อน (COP28) ปลายปีนี้ จึงจำเป็นยิ่งที่จะให้รัฐบาลทั้งหลายตกลงกันในท้ายที่สุดว่าจะยุติการใช้น้ำมัน ถ่านหินและก๊าซฟอสซิลให้เร็วที่สุดและมีความเป็นธรรมมากที่สุดอย่างไร รวมถึงจะต้องหยุดโครงการใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงฟอสซิลในทันที
“พลังงานแสงอาทิตย์และลมได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด ทำให้ราคาพลังงานถูกลง แต่แทบจะไม่ได้ช่วยอะไรหากผู้นำรัฐบาลของเราทั้งหลายยังล้มเหลวในการจัดการอุตสาหกรรมฟอสซิล เป้าหมายสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและประสิทธิภาพพลังงานนั้นน่าชื่นชม แต่ภารกิจที่แท้จริงคือการยุติการขยายตัวอย่างบ้าคลั่งของอุตสาหกรรมฟอสซิลที่ยังเกิดขึ้นต่อไปเรื่อยๆ ด้วย” โคโซเนน กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง