ตอนนี้เรื่องการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ทุกคนเริ่มให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ซึ่งในระดับครัวเรือนก็สามารถติดตั้ง Solar Rooftop นอกจากจะประหยัดไฟแล้ว ยังสามารถขายคืนไฟฟ้าให้กับรัฐได้ด้วย
โซลาร์เซลล์ หรือ Solar Rooftop เป็นระบบที่เปลี่ยนพลังงานจากแสงอาทิตย์มาเป็นพลังงานไฟฟ้าโดยมีแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนหลังคาที่พักอาศัย ใช้รับพลังงานแสงอาทิตย์แล้วเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัด ยังเป็นพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมยังสามารถสร้างรายได้ให้เราอีกทางโดยการขายคืนไฟฟ้าที่เหลือให้กับรัฐได้ด้วย สำหรับวิธีขายคืนไฟฟ้าให้รัฐจาก โซลาร์เซลล์ (Solar Rooftop) ทำอย่างไร? มาดูกัน
วิธีขายคืนไฟฟ้าให้รัฐจาก โซลาร์เซลล์ (Solar Rooftop) ทำอย่างไร?
-ผู้เข้าร่วมโครงการต้องเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1 บ้านอยู่อาศัยกับ PEA เท่านั้น
-เน้นการติดตั้ง Solar Rooftop เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง (Self Consumption) และไฟฟ้าที่เหลือจึงสามารถขายไฟฟ้าได้
-กำลังผลิตติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ (PV) ไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ (kWp) ต่อรายสำหรับ เชื่อมต่อแบบ 3 เฟส (220/380 V) และ ไม่เกิน 5 kWp ต่อราย สำหรับเชื่อมต่อแบบ 1 เฟส (220 V)
-ผู้ยื่นขอขายไฟฟ้าเป็นผู้ลงทุนการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแผง Solar เองทั้งหมด
-การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบการเชื่อมต่อระบบ ภายหลังได้รับการพิจารณา ในราคา 2,000 บาท (ยังไม่รวมภาษี)
-ราคาที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาครับซื้อไฟฟ้าส่วนเกิน 2.2 บาท/หน่วย (kWh) ระยะเวลา 10 ปี
-ปริมาณรับซื้อรวมในพื้นที่ PEA ปริมาณ 5 เมกะวัตต์ (MW) ต่อปี
เนื้อหาที่น่าสนใจ :
ส่องนโยบายพรรคการเมือง ด้านสิ่งแวดล้อม เลือกตั้ง 2566 Keep The World แค่ไหน ?
CAL Forum รุ่น 2 ครั้งที่ 3 เวทีระดับผู้นำแชร์แนวคิดการมีส่วนร่วมลดโลกร้อน
เจ็บปวด! เปรูพบสิงโตทะเลราว 600 ตัว นกนับหมื่น ตาย เหตุไข้หวัดนกระบาด
แผงโซลาร์เซลล์มีกี่แบบ?
แบบ Mono Crystalline Silicon Solar Cell
เป็นแผงโซลาร์เซลล์ที่ทำจากผลึกซิลิคอนเชิงเดี่ยวที่มีคุณภาพและมีความบริสุทธิ์สูง ลักษณะของเซลล์เป็นรูปสี่เหลี่ยมที่ลบมุมทั้งสี่ออก โดยนำมาวางเรียงต่อๆ กันเพื่อให้การใช้งานมีประสิทธิภาพสูงสุด มีสีเข้มที่ดูสวยงาม และสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้สูงกว่าแผงโซลาร์เซลล์ชนิดอื่น แม้อยู่ในภาวะแสงแดดน้อย อายุการใช้งานยาวนานกว่า 25 ปี
แบบ Poly Crystalline Silicon Solar Cell
แผงโซลาร์เซลล์ที่ทำมาจากผลึกซิลิคอนเหมือนแผงโซลาร์เซลล์เเบบโมโนคริสตัลไลน์ แต่มีขั้นตอนการผลิตแตกต่างกัน โดยนำซิลิคอนเหลวมาเทใส่พิมพ์ที่เป็นสี่เหลี่ยม จากนั้นตัดแบ่งให้เป็นแผ่นบางๆ ทำให้เซลล์แต่ละเซลล์เป็นรูปสี่เหลี่ยมต่อกัน โดยไม่มีการตัดมุมบริเวณขอบของช่องสี่เหลี่ยม มีประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ดี หากใช้งานในอุณหภูมิสูงจะผลิตไฟฟ้าได้ดี อายุการใช้งานประมาณ 20-25 ปี
แบบ Amorphous Solar Cell
แผงโซลาร์เซลล์แบบฟิล์มบาง (Thin Film Solar Cell) หรือ Amorphous Solar Cell เกิดจากการนำสารที่มีคุณสมบัติในการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ไปเป็นพลังงานไฟฟ้ามาฉาบเป็นชั้นฟิล์มบางๆ ซ้อนกันหลายชั้น เป็นแผงโซลาร์เซลล์ที่ราคาย่อมเยาในการผลิตไฟฟ้า แต่อายุการใช้งานก็จะน้อยกว่าแบบอื่น ๆ
ที่มา : การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) / ฐานเศรษฐกิจ