svasdssvasds

ผอ. สนพ. เผย 6 เดือนแรกไทยปล่อยก๊าซ CO2 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศในเอเชีย

ผอ. สนพ. เผย 6 เดือนแรกไทยปล่อยก๊าซ CO2 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศในเอเชีย

ภาพรวมการใช้พลังงาน ครึ่งปีแรกของ 2565 พบว่าไทยปล่อยก๊าซ CO2 เพิ่มร้อยละ 6.7 ผลจากเศรษฐกิจขยายตัวหลังโควิดระบาดในปีที่ผ่านมา ภาคการขนส่งนำปล่อยก๊าซสูงสุด ส่วนภาคผลิตไฟฟ้าปรับตัวปล่อย CO2 ลดลง ส่วนหนึ่งจากการผลักดันนโยบาย พลังงานสะอาด-หมุนเวียน เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ได้สรุปภาพรวมผลการใช้พลังงานครึ่งปีแรกของปี 2565 (6 เดือน) พบว่า มีปริมาณเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจเดินเคลื่อนมีการปรับตัวได้ดีขึ้นหลังจากต้องเผชิญกับโรคระบาดหนักในปีที่ผ่านมารวมทั้งมาตราการภาครัฐที่ผ่อนคลายการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงทำให้ธุรกิจกลับมาดำเนินกิจการได้อย่างเต็มต่อเนื่องอีกครั้ง การใช้พลังงานในทุกประเภทจึงเพิ่มสูงขึ้นตามมา 

ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบดัชนีการปล่อยก๊าซ CO2 ภาคพลังงานของประเทศไทยกับต่างประเทศพบว่า ประเทศไทยมีอัตราการปล่อยก๊าซ CO2 ต่อการใช้พลังงาน และอัตราการปล่อยก๊าซ CO2 ต่อหน่วยการผลิตไฟฟ้า (kWh) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมประเทศจีน) และประเทศจีน

ผอ. สนพ. เผย 6 เดือนแรกไทยปล่อยก๊าซ CO2 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศในเอเชีย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โดยการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงานในช่วง 6 เดือนแรกนั้น อยู่ที่ 131.8  ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 จากปีก่อน หลักๆ แล้วมาจากภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม และภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ซึ่งสวนทางกับภาคการผลิตไฟฟ้าที่มีแนวโน้มลดลง 

ทั้งนี้ค่าเฉลี่ยการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงานของประเทศที่ผ่านมาอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ช่วงหลังภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปี 2541 ที่ปริมาณ 145.5 ล้านตัน และในปี 2561 มีการปล่อยก๊าซ CO2 เพิ่มขึ้นเป็น 263.4 ล้านตัน

 

ซึ่งถ้าเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีตพบว่าสอดคล้องกับการใช้พลังงานที่ผ่านมาค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 ต่อปี ยกเว้นในปี 2562 ที่การปล่อยก๊าซ CO2 ลดลงร้อยละ 2.3 การใช้พลังงานอยู่ที่ 257.4 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปี 2561  

ในส่วนของนโยบายการสนับสนุนให้ใช้พลังงานทดแทนช่วยให้การปล่อยก๊าซ CO2 ลดลงแม้จะมีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น สำหรับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ทำให้ปี 2564 ปล่อยก๊าซ CO2 ลดลงร้อยละ 1.5 สรุปแล้วการใช้พลังงานรวมอยู่ที่ 244.0 ล้านตัน

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)

นายวัฒนพงษ์ กล่าวเสริมว่า ผลจากการส่งออกบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 54.3 และการบริโภคในภาคเอกชนและอุปโภคในภาครัฐขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ภาคการผลิตเองก็มีการขยายตัว จึงช่วยผยุงภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทย ขยายตัวร้อยละ 2.5 ต่อเนื่องจากไตรมาสแรก ที่ขยายตัว ร้อยละ 2.3 จากปัจจัยที่กล่าวมาทำให้มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงานเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งแจกแจงออกเป็น ดังนี้ 

  • ภาคการขนส่ง มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 ร้อยละ 30 เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2
  • ภาคอุตสาหกรรม มีการปล่อยก๊าซ CO2 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.9 อยู่ที่ร้อยละ 63.8
  • ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 ร้อยละ 5 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.1

สำหรับในภาคการผลิตไฟฟ้า มีการปล่อยก๊าซ CO2 สูงสุดในภาคการใช้พลังงานทั้งหมดอยู่ที่ร้อยละ 32 ของการปล่อยก๊าซ CO2 แต่การปล่อยก๊าซ CO2 ถือได้ว่าลดลงร้อยละ 5.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

3 อันดับ เชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซ CO2 คือ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน/ลิกไนต์ สำหรับในช่วง 6 เดือนแรก ชองปี พบว่า สัดส่วนเชื้อเพลิงในการปล่อยก๊าซ CO2 เรียงตามลำดับดังนี้

  • น้ำมันสำเร็จรูป ร้อยละ 40 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 13.1 
  • ถ่านหิน/ลิกไนต์ ร้อยละ 31 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 9.8
  • ก๊าซธรรมชาติ ร้อยละ 29 ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 3.6 

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวทิ้งท้ายว่า ผลจากนโยบายด้านพลังงานที่คำนิงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2022) ที่ผลักดันให้มีการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกมากขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีอัตราการปล่อยก๊าซ CO2 ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 ที่ระดับเฉลี่ย 2.06 พันตัน CO2 ต่อการใช้พลังงาน 1 KTOE ซึ่งเป็นอัตราที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศในภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมประเทศจีน) ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศจีน รวมทั้งค่าเฉลี่ยของโลก 

ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) ที่ต้องการสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่างๆ ที่เป็นพลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ