วราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ประกาศผลสำเร็จ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เชื่อมั่นไทยพร้อมเป็นกลางทางคาร์บอนตามอนุสัญญาฯระหว่างประเทศ เพื่อลดโลกร้อน
วันที่ 6 ส.ค. 2565 เวลา 10.00 น. นายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เดินทางไปร่วมกล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ "จากนโยบายสู่ความสำเร็จด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Climate Actions and Achievement: From Policies to Implementation" ในการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย (Thailand Climate Action Conference หรือ TCAC) ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน
นายวราวุธกล่าวว่า จากปัญหา Climate Change ประเทศไทย จะต้องบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 หรือการทำให้อุณหภูมิโลกลดลง 1.5 องศาเซลเซียส สำหรับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะผลักดันนโยบายต่าง ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมาย ตามกรอบอนุสัญญาฯ และความตกลงปารีส ที่ไทยได้ประกาศไว้ในการประชุม COP26 ณ เมือง Glasgow สหราชอาณาจักร
ส่วนในด้านของการจัดการทางการเกษตร นายวราวุธ กล่าวว่า ปัจจุบันการเกษตรสมัยใหม่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ผสมผสานกับภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือที่ตนเรียกว่า “Agri-Tech with Roots” ที่นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ ร่วมกับองค์ความรู้ปราชญ์ชาวบ้าน มีการใช้ระบบเกษตรอินทรีย์ ทำให้ผลผลิตมีราคาสูง และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"วราวุธ" ย้ำ เวที TCAC หวังลดคาร์บอน ก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์
วราวุธ เผย กำลังเร่งขยายพันธุ์โลมาอิรวดีที่เหลือในไทยแค่ 14 ตัว
Innovation Keeping the World : Rethink Recover รักษ์โลกไม่ใช่แค่เทคโนโลยี
นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จากโครงการ Thai Rice NAMA (ไทย ไรซ์ นามา) โครงการความร่วมมือระหว่างเยอรมนี และไทย ที่ได้เข้ามาช่วยพี่น้องชาวนาแก้ปัญหาโลกร้อน และช่วยส่งเสริมให้ผลิตข้าวได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการใช้เทคโนโลยี และเทคนิคการปลูกข้าวแบบใช้น้ำน้อย ทำให้สามารถ เพิ่มผลผลิตข้าว เพิ่มคุณภาพข้าว เพิ่มรายได้ ลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้น้ำ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นายวราวุธ ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “แผนนโยบายของกระทรวงฯ เป็นแผนงานที่ส่งต่อให้หน่วยงานทั่วประเทศ นำไปลงมือปฏิบัติได้จริง ซึ่งหลาย ๆ นโยบายของเรา ลงมือทำจนสำเร็จแล้ว แต่เพิ่งนำมาบอกก็มี เราทำแล้วค่อยเอามาพูด ทั้งนี้เรายังมีภารกิจสำคัญที่ต้องผลักดันให้สำเร็จอย่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. ที่ไทยต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ข้อกฎหมายต่าง ๆ ต้องไม่ทับซ้อนกัน ซึ่งตนเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ประเทศไทยมีศักยภาพมากพอ หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนมีความพร้อม และคนไทยทุกคนก็พร้อมแล้ว ที่จะพาประเทศไทยก้าวไปสู่สถานะ Carbon Neutrality เพื่อลูกหลานของเราในอนาคต
ข้อควรรู้
ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) คือ การปล่อยปริมาณการปล่อยคาร์บอน (Co2) เข้าสู่ชั้นบรรยากกาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืนมาผ่านป่าหรือวิธีการอื่น
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero emissions) คือ การที่ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีความสมดุลเท่ากับก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดซับออกจากชั้นบรรยากาศ ซึ่งอยู่ในสภาวะสมดุล ไม่เพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ ถ้าทุกประเทศทั่วโลกทำได้ แสดงว่า เราสามารถหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนเกิด และจะสามารถลดโลกร้อนได้
ตามการประชุม COP26 เมื่อปลายปี 2021 ที่ผ่านมา ไทยได้เข้าร่วมประชุมหารือแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนกับนานาชาติ เพื่อยุติการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายและต้องทำให้โลกมีอุณหภูมิไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส หากเกินตัวเลขดังกล่าว ยากที่จะหวนคืนกลับได้ยาก หลายประเทศจึงต้องร่วมมือกันหาทางให้ลดการปล่อยคาร์บอนแฃะก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศให้มากที่สุด ภายในปี 2050 ตามอนุสัญญาฯระหว่างประเทศ