ภายหลังที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ คนที่ 47 ถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ไปดูกันหน่อยดีกว่าว่า ณ เวลานี้ ประเทศต่าง ๆ แสดงท่าทีต่อความเคลื่อนไหวของพญาอินทรีอย่างไร ?
ความเคลื่อนไหวของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐอเมริกา สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลก หลังเจ้าตัวจดปากกาเซนต์ถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงปารีส (Paris agreement) ซึ่งกลุ่มประเทศสมาชิกให้คำมั่นสัญญาว่าจะร่วมกันรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศา
ทรัมป์ เคยถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงปารีสมาแล้วในสมัยแรกของการดำรงตำแหน่ง กลับมาครั้งนี้ ดูเหมือนจะสร้างความหวาดหวั่นให้กับทิศทางพลังงานโลกอยู่พอสมควร ‘เอเดียร์ เทิร์นเนอร์’ ประธานคณะกรรมาธิการเปลี่ยนผ่านพลังงาน เปิดเผยว่า การกระทำของทรัมป์อาจทำให้โลกร้อนขึ้น 0.3 องศา ทั้งยังเปิดช่องให้นานาประเทศลดความพยายามในการปล่อยมลพิษลง
ปัจจุบัน สหรัฐฯ กลายเป็น 1 ใน 4 ประเทศ ที่ลงนามถอนตัวจากข้อตกลงปารีส อันได้แก่ เยเมน อิหร่าน และลิเบีย ซึ่งเป็นประเทศผู้นำการขุดเจาะน้ำมันแทบทั้งสิ้น วาระนี้ SPRiNG พาไปสำรวจท่าทีของนานาประเทศว่ามีความคิดเห็นต่อการกระทำของโดนัลด์ ทรัมป์อย่างไร
อูร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวใน World Economic Forum 2025 ที่กรุงดาวอส ว่า “ข้อตกลงปารีสยังคงเป็นความหวังที่ดีที่สุดสำหรับมนุษยชาติทั้งหมด ยุโรปจะยึดมั่นในแนวทางนี้และทำงานร่วมกับประเทศต่างๆ ที่ต้องการปกป้องธรรมชาติและหยุดภาวะโลกร้อนต่อไป”
เอ็ด มิลลิแบนด์ เลขาธิการด้านความมั่นคงด้านพลังงานและการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ของสหราชอาณาจักร เปิดเผยว่า “เราสนับสนุนข้อตกลงปารีสอย่างแข็งขัน ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนผ่าน [ไปสู่พลังงานสะอาด] ครั้งนี้ไม่อาจหยุดยั้งได้” ทั้งนี้ เอ็ดระบุอีกว่าจะเดินหน้าหาจุดร่วมกันทรัมป์ต่อไป
สตีเวน กิลโบต์ รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแคนาดา เปิดเผยว่า “เป็นเรื่องแปลกที่ประธานาธิบดีจะทำเช่นนั้นในขณะที่แคลิฟอร์เนียกำลังเผชิญกับฤดูไฟป่าที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ แคนาดาจะมุ่งมั่นอย่างเต็มที่กับข้อตกลงปารีส”
มารินา ซิลวา รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของบราซิล ประเทศเจ้าการประชุม COP 30 เปิดเผยว่า “การตัดสินใจของทรัมป์ เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับนโยบาย ที่ชี้นำโดยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และสามัญสำนึก ซึ่งกำหนดขึ้นจากความเป็นจริงของเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว ซึ่งรวมถึงในประเทศของเขาเองด้วย”
กัว เจียคุน โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีน กล่าวในการแถลงข่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความท้าทายร่วมกันที่มนุษยชาติทุกคนต้องเผชิญ ไม่มีประเทศใดที่สามารถไม่ได้รับผลกระทบหรือแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเอง จีนจะทำงานร่วมกับทุกฝ่ายเพื่อรับมือกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง”
ที่มา: The Guardian
ข่าวที่เกี่ยวข้อง