svasdssvasds

การกลับมาของทรัมป์ ระยะสั้นได้ ระยะยาวเสีย

การกลับมาของทรัมป์ ระยะสั้นได้ ระยะยาวเสีย

การกลับมาของทรัมป์ ระยะสั้นได้ ระยะยาวเสีย โอกาสและสภาวะผันผวนที่ไทยต้องรับมือ ในสถานการณ์โลกที่อเมริกาคือผู้นำ

SHORT CUT

  • นโยบาย "America First": ทรัมป์มุ่งเน้นผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เป็นหลัก อาจขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย และสกัดกั้นจีนซึ่งส่งผลกระทบทางอ้อมต่อไทย
  • ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย: ระยะสั้นไทยอาจได้ประโยชน์จากการส่งออกทดแทนสินค้าจีน แต่ระยะยาวสินค้าไทยอาจถูกขึ้นภาษี SCB EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2025 อาจโตช้าลง
  • โอกาสของไทย: ไทยอาจดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติที่ย้ายฐานผลิตหนีภาษี และขยายตลาดส่งออกไปประเทศอื่นๆ ได้

การกลับมาของทรัมป์ ระยะสั้นได้ ระยะยาวเสีย โอกาสและสภาวะผันผวนที่ไทยต้องรับมือ ในสถานการณ์โลกที่อเมริกาคือผู้นำ

การกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์ ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาสมัยที่ 2 ก่อให้เกิดความสนใจและความวิตกกังวลไปทั่วโลก เนื่องจากนโยบาย "America First" ที่เน้นผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก SPRiNG จะวิเคราะห์นโยบายสำคัญของทรัมป์ มุมมองของนักวิชาการ และการวิเคราะห์จากแหล่งข่าวต่างๆ รวมถึงศูนย์วิจัยกสิกรไทย ถึงผลกระทบต่อสหรัฐอเมริกา โลก และประเทศไทย

 

เผด็จการที่ชื่อ “ทรัมป์”

ขณะที่ทรัมป์เคยกล่าวว่า เขาจะเป็น “เผด็จการ” แค่เฉพาะ 24 ชั่วโมงแรกที่รับตำแหน่งเท่านั้น และบอกกับสมาชิกวุฒิสภาพรรครีพับลิกันว่า เขากำลังเตรียมออกคำสั่งฝ่ายบริหารราว 100 ฉบับในวันแรกที่เป็นประธานาธิบดี 

 

ทรัมป์มีแผนยกเลิกหลายนโยบายที่คืบหน้าในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน โดยสิ่งที่ทรัมป์ให้คำมั่นว่าจะทำตั้งแต่วันแรก มีดังนี้

1. นโยบายเกี่ยวกับผู้อพยพ 

ปิดพรมแดนและห้ามการเดินทางอีกครั้ง: ทรัมป์มีแผนปิดพรมแดนภาคใต้, ห้ามการเดินทางอีกครั้ง และระงับการขอลี้ภัยเข้าสหรัฐ 

เนรเทศครั้งใหญ่และยุติการได้สัญชาติด้วยการเกิด: ทรัมป์ตั้งใจ “ปฏิบัติการเนรเทศครั้งใหญ่สุด” ในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ โดยเน้นการโยกย้ายอาชญากร, คนที่เพิ่งข้ามพรมแดนเข้ามา และคนที่ถูกศาลสั่งเนรเทศ รวมถึงยกเลิกซีบีพีวัน แอปพลิเคชันตรวจคนเข้าเมืองที่ออกมาใช้ในสมัยไบเดน นอกจากนี้ ทรัมป์ยังจะยุติการได้สัญชาติด้วยการเกิด ซึ่งหมายความว่าลูกของคนลักลอบเข้าเมืองจะไม่ได้เป็นพลเมืองอเมริกันโดยอัตโนมัติ

2. การอภัยโทษ

อภัยโทษคดี 6 ม.ค.: ทรัมป์จะอภัยโทษคนที่ถูกดำเนินคดีในการจลาจลบุกรัฐสภาในวันที่ 6 ม.ค. 2021 ที่ถูกดำเนินคดีอาญา โดยทรัมป์กล่าวว่าจะดำเนินการอย่างรวดเร็ว อภัยโทษให้กับผู้ต้องคดีอาญาหลายคนจากจำนวนกว่า 1,500 คน

3. นโยบายต่างประเทศ

ยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน: ทรัมป์กล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า จะยุติสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนก่อนรับตำแหน่ง โดยอ้างความสัมพันธ์ที่เขามีกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย และประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีของยูเครน จะช่วยให้เขาเป็นคนกลางสร้างสันติภาพระหว่างสองชาติได้

4. นโยบายสิ่งแวดล้อม

ยุติบังคับใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและนโยบายกรีนนิวดีล: ทรัมป์จะยกเลิกนโยบายเกี่ยวกับสภาพอากาศหลายฉบับที่ออกโดยรัฐบาลไบเดน เช่น ยุติการบังคับใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และยกเลิกกฎหมายการผลิตพลังงานฟอสซิล, ยกเลิกการบังคับใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และขยายการขุดเจาะน้ำมันภายในประเทศ ยกเลิกคำสั่งห้ามขุดเจาะนอกชายฝั่งของรัฐบาลปัจจุบัน ขณะเดียวกันเขาได้ลงนามถอนตัวจากข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นข้อตกลงที่กว่า 195 ประเทศร่วมมีเป้าหมายจำกัดภาวะโลกร้อนในระยะยาวให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส หรือหากไม่สามารถทำได้ ให้รักษาอุณหภูมิให้อยู่ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม

5. นโยบายเศรษฐกิจ

ยกเลิกระเบียบรัฐบาลกลาง: ทรัมป์จะขจัดระเบียบรัฐบาลกลางจำนวนมาก ที่เขามองว่าทำให้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น

6. นโยบายสังคม

ห้ามข้ามเพศเล่นกีฬาผู้หญิงและเข้ากองทัพ: ทรัมป์จะห้ามหญิงข้ามเพศแข่งขันในกีฬาของผู้หญิง และห้ามบุคคลข้ามเพศรับราชการในกองทัพ

ตัดงบประมาณโรงเรียน ‘ตื่นรู้’ : ทรัมป์จะตัดงบประมาณโรงเรียนที่สอนทฤษฎีเชื้อชาติสำคัญ (ซีอาร์ที) หรือบังคับฉีดวัคซีน ทั้งยังห้ามกองทัพสอนซีอาร์ที ยกเลิกข้อกำหนดด้านความหลากหลาย ครอบคลุม และไม่แบ่งแยก (ดีอีไอ) ของรัฐบาลกลาง

แม้คำมั่นสัญญาในวันแรกของทรัมป์สามารถบรรลุได้ด้วยการออกคำสั่งฝ่ายบริหาร แต่บางเรื่องอาจต้องต่อรองกับสภาคองเกรสหลายเดือนหรือหลายปี โดยเฉพาะในประเด็นอย่างสิทธิพลเมืองด้วยการเกิด และคำสั่งรัฐบาลกลางว่าด้วยสิทธิบุคคลข้ามเพศ

รวมไปถึงเขาได้ลงนามคำสั่งพิเศษฝ่ายบริหารหลากหลายฉบับ เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศตามที่ได้หาเสียงเอาไว้ โดยหนึ่งในนั้นคือ การพาสหรัฐอเมริกาออกจากการเป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก (WHO)

โดยผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การที่สหรัฐฯ ถอนตัวจากองค์การอนามัยโลก อาจทำให้ขีดความสามารถของโลกในการป้องกันการระบาดครั้งใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้ลดน้อยลง เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นผู้บริจาครายใหญ่ที่สุดของ WHO และจัดหาเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขให้องค์กรนี้จำนวนหลายร้อยคน

แน่นอนว่าการกระทำของทรัมป์มีหลากหลายแง่มุมที่ต้องมองในมุมมองของนักวิชาการ รวมถึงสถาบันวิจัยต่างๆ ได้มีการคาดการณ์วิเคราะห์ออกมามากมาย

"ทรัมป์ ซินโดรม"  การดิสรัปชั่นครั้งใหญ่บนเวทีโลก

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (ดร.แดน) ประธานสถาบันการสร้างชาติ มองว่าการกลับมาของทรัมป์ครั้งนี้ จะเป็นการ "ดิสรัปชั่นในเวทีโลกครั้งใหญ่" เนื่องจากทรัมป์มีแนวคิดและวิธีการที่แตกต่างจากประธานาธิบดีคนอื่นๆ ทรัมป์ยังมี "ทรัมป์ปริซึม" (Trumpism) หรือลัทธิทรัมป์ ที่มีแนวคิดเฉพาะตัว การดำเนินนโยบายแบบ "ทรัมป์ ซินโดรม" จะส่งผลกระทบต่อทุกประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตร ศัตรู หรือประเทศที่ไม่ชอบอเมริกา ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ คาดว่านโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์จะส่งผลกระทบต่อชาวโลกอย่างมาก โดยเฉพาะการตั้งกำแพงภาษี

นโยบาย "America First" และผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก

ด้าน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่านโยบาย “America First” ของทรัมป์ มุ่งเน้นการเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และการเมืองของสหรัฐอเมริกา ทรัมป์ประกาศชัดเจนว่าจะ สกัดกั้นจีน ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนในอัตราที่สูง ประเทศใดก็ตามที่ เป็นพันธมิตรกับจีน ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย นโยบายนี้จะทำให้สหรัฐอเมริกา ใช้อำนาจทางเศรษฐกิจเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง โดยไม่สนใจว่าประเทศอื่นๆ จะได้รับผลกระทบอย่างไร สศค. ประเมินว่านโยบายนี้จะทำให้การค้าการส่งออกไทยไปสหรัฐลดลง

ผลกระทบต่อประเทศไทย ความท้าทายและโอกาส

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ แนะนำให้ไทยเตรียมรับมือกับกำแพงภาษีของสหรัฐฯ โดยการเจรจาต่อรองและเสนอข้อแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ไทยอาจ ได้รับผลกระทบทางอ้อม จากนโยบายสกัดกั้นจีนของทรัมป์ "ไชน่าพลัสวัน" (China+1) อาจทำให้บริษัทจีนย้ายฐานการผลิตมายังไทย เพื่อหลีกเลี่ยงกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ขณะที่ สศค. ประเมินว่า FDI จากสหรัฐจะลดลง อย่างไรก็ตาม ไทยมีโอกาสได้รับประโยชน์จากการลงทุนของต่างชาติ ที่ต้องการย้ายฐานการผลิต สศค. มองว่าไทยมีโอกาสดึงดูดการลงทุนที่ต้องการย้ายฐานผลิตเพื่อหลบกำแพงภาษี ไทยยังมีโอกาส ขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากสหรัฐอเมริกาและจีน

ระยะสั้นได้ ระยะยาวเสีย

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่านโยบายของทรัมป์ สร้างความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจไทย ในระยะสั้น ไทยอาจได้ประโยชน์จากการ ส่งออกสินค้าบางประเภทไปทดแทนสินค้าจีน แต่ในระยะยาว สินค้าส่งออกของไทยอาจถูกขึ้นภาษีนำเข้า เนื่องจากไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ การส่งออกและการท่องเที่ยว อาจได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว

สิ้นค้าจีนทะลัก ส่งออกไทยลด

ขณะที่ SCB EIC ได้วิเคราะห์ ตาม IMF ว่านโยบายทรัมป์ 2.0 เน้นการกีดกันการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกโดยรวม นโยบายสำคัญของทรัมป์ 2.0 ประกอบด้วย

การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 60% และสินค้าจากประเทศอื่น 10%

การจำกัดผู้อพยพเข้าสหรัฐฯ ทั้งทางกฎหมายและผิดกฎหมาย

การลดการสนับสนุนด้านการทหารแก่พันธมิตร เช่น ยูเครน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้

การมุ่งเน้นความมั่นคงด้านพลังงานมากกว่าการแก้ปัญหาโลกร้อน

การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและผู้มีฐานะมั่งคั่ง ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ขาดดุลการคลังและต้องก่อหนี้มากขึ้น

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้วิเคราะห์ผลกระทบของนโยบายทรัมป์ 2.0 ต่อเศรษฐกิจโลกผ่าน 5 ช่องทาง

1.นโยบายขึ้นภาษีนำเข้า: ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลดลง 0.3% ในช่วงปี 2025-2030

2.ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าโลก: ส่งผลกระทบต่อการลงทุน โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม

3.นโยบายลดภาษี: ส่งผลกระทบสุทธิต่อเศรษฐกิจโลกเป็นบวก 0.1% ในช่วงปี 2025-2030

4.นโยบายกีดกันผู้อพยพ: ส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจโลกรวม 0.2% ในช่วงปี 2025-2030

5.ภาวะการเงินโลกตึงตัวขึ้น: ส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจโลก แต่ผลกระทบจะเริ่มลดลงในปี 2028

จากการวิเคราะห์ของ IMF เศรษฐกิจโลกจะเริ่มได้รับผลกระทบเชิงลบจากนโยบายทรัมป์ 2.0 ตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2025 และ 2026 จะลดลง 0.8% และ 0.4% ตามลำดับ โดยรวมแล้ว นโยบายทรัมป์ 2.0 คาดว่าจะกดดันให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลดลง 0.4%

สำหรับประเทศไทย SCB EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นจะได้รับผลกระทบเชิงลบจากนโยบายทรัมป์ 2.0 ผ่านทางการค้าและการลงทุนเป็นสำคัญ

ผลกระทบต่อการส่งออก: การส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐฯ จะลดลง อีกทั้งสินค้าจีนอาจทะลักเข้ามาตีตลาดไทยมากขึ้น ส่งผลให้ SCB EIC ประเมินว่ามูลค่าการส่งออกไทยในปี 2025 จะลดลงประมาณ 0.8-1%

ผลกระทบต่อการลงทุน: ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติชะลอการลงทุนในไทย ส่งผลให้ SCB EIC ประเมินว่าการลงทุนภาคเอกชนไทยในปี 2025 จะลดลงประมาณ 0.4-0.5%

SCB EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2025 จะขยายตัวลดลงประมาณ 0.5% เทียบกับแนวโน้มเดิมก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ในระยะกลาง SCB EIC ประเมินว่าประเทศไทยอาจได้รับประโยชน์จากการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น หากประเทศไทยสามารถรักษาบทบาทเป็นกลางในเกมภูมิรัฐศาสตร์โลกได้ ประเทศไทยอาจได้รับประโยชน์จากการเบี่ยงเบนทางการค้าและการลงทุนจากกลุ่มประเทศที่มีขั้วเศรษฐกิจต่างกัน

ทรัมป์มามีทั้งผลบวกและลบ

ด้าน รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ได้วิเคราะห์ผลกระทบจากนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต่อประเทศไทย โดยคาดการณ์ว่าจะมีทั้งผลบวกและลบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเศรษฐกิจ

ผลกระทบด้านลบ

การเก็บภาษีนำเข้า: นโยบายของทรัมป์มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยการลดการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งอาจนำไปสู่การเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากทั่วโลกรวมถึงไทย ประมาณ 10-20%

ผลกระทบต่อการส่งออก: การเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ และจีน

การท่องเที่ยว: แม้ว่าการท่องเที่ยวอาจได้รับผลกระทบน้อยกว่าการส่งออก แต่นักท่องเที่ยวจีนที่เน้นการท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น อาจส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง

ผลกระทบด้านบวก

การเจรจาต่อรอง: ไทยมีโอกาสเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ เพื่อลดผลกระทบจากการเก็บภาษีนำเข้า

โอกาสในตลาดใหม่: การขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากสหรัฐฯ และจีน จะช่วยลดผลกระทบจากนโยบายของทรัมป์

การลงทุน: การเข้าสู่ยุควงจรเศรษฐกิจใหม่และอุตสาหกรรมใหม่ อาจดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้น

ผลกระทบต่อ GDP: ในกรณีที่ดีที่สุด เศรษฐกิจไทยอาจเติบโตได้ 3% ในกรณีที่แย่ที่สุด GDP อาจขยายตัวเพียง 2.5-2.6% เท่านั้น การส่งออกที่คาดว่าจะเติบโต 4-5% อาจลดลงเหลือเพียง 1-2%

ข้อเสนอแนะจากนักวิชาการ

รศ.ดร. สมชาย แนะนำให้ รัฐบาลไทยเตรียมพร้อมเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ

ขณะที่ สศค. เสนอแนะให้ไทยขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ พัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน และพัฒนาฝีมือแรงงาน

การกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์ นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายต่อเศรษฐกิจและการเมืองโลก นโยบาย "America First" ของทรัมป์ อาจส่งผลกระทบทางลบต่อประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของกำแพงภาษีและการสกัดกั้นจีน อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิต และการขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ สิ่งสำคัญคือการเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และการปรับตัวอย่างเหมาะสม เพื่อลดผลกระทบทางลบ และคว้าโอกาสจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

อ้างอิง

PCC / กรุงเทพธุรกิจ1 / กรุงเทพธุรกิจ 2 / กรุงเทพธุรกิจ 3 / BBC1 / BBC2 / MTC / ศูนย์วิจัยกสิกร / Thaipublica /

related