ครั้งแรกที่คุณได้ยินคำว่า ‘โลกร้อน’ คือเมื่อไหร่...5 ปีที่แล้ว 10 ปีที่แล้ว หรือ 20 ปีที่แล้ว? เอาเข้าจริงแล้ว ‘โลกร้อน’ ในมุมของคุณเป็นเรื่องเร่งด่วนแค่ไหน มุมมองตอนนั้นกับตอนนี้เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง...
ตัดกลับมาปัจจุบัน เราต่างเห็นกันตำตาว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งยังเกิดบ่อยขึ้น และแปลกขึ้นทุกวัน สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนก็เกิดให้เห็นแล้ว แต่กระนั้น....
ทำไมผู้คนถึงให้ความสนใจปัญหา ‘โลกร้อน’ น้อยกว่าที่ควร ทั้ง ๆ ที่เมื่อมาคลี่ผลกระทบดูกันจริง ๆ ภายใต้ฟ้าเดียวกันนี้ เราล้วนได้รับผลพวงจาก ‘ภาวะโลกร้อน’ หรือ ‘ภาวะโลกเดือด’ กันถ้วนทั่ว (ในบางกรณี)
ปรากฏชัดจากข้อมูลของ Statista ที่ได้สำรวจความคิดเห็นทางออนไลน์ โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามราว 24,290 คนทั่วโลก อายุระหว่าง 16-74 ปี เกี่ยวกับมุมมองที่พวกเขามีต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
จากการสรุปของ Statista พบว่า อินเดียติดอันดับ 1 ชาติที่มองโลกร้อนเป็นเรื่องไกลตัว (66%) และที่น่าสนใจก็คือ ไทยติดอันดับ 2 (40%) ใกล้เคียงกับเปรู (อันดับ 3 - 38%) และเม็กซิโก (อันดับ 4-36%) ในขณะที่ ญี่ปุ่นนั้นมีสัดส่วนเพียง 12% ที่เห็นว่าโลกร้อนเป็นเรื่องไกลตัว
อย่างไรก็ดี จากจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามราว 2.5 หมื่นคนทั่วโลก กดเครื่องคิดเลขเฉลี่ยเปอร์เซ็นต์ออกมาแล้วจะอยู่ที่ 23% แม้จะไม่มีนิยามว่าต้องมากกว่า หรือน้อยกว่าเท่าไรจึงสะท้อนว่าประเทศนั้น ๆ แคร์ปัญหาโลกร้อน
แต่ในแง่มุมหนึ่ง นี่อาจเป็นภาพคร่าว ๆ ที่โชว์ให้เห็นว่าประชากรในแต่ละประเทศ ตื่นตัวแค่ไหนกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ ตื่นตัวในที่นี้ไม่ใช่มีจิตสำนึกเท่านั้น แต่อาจต้องส่งเสียง หรือสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาล ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้หาโซลูชั่นรับมือกับวิกฤตโลกร้อน
หากเรามาลงรายละเอียด ความรู้สึกที่มีต่อโลกร้อนอาจเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ สนใจ ตระหนัก หวาดกลัว ส่งเสียงเรียกร้องให้ภาคส่วนต่าง ๆ take action ซึ่งจะเกิดความรู้สึก หรือการกระทำเหล่านี้ อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย อาทิ การเข้าถึงข้อมูล แวดล้อม สถานะทางสังคม ฯลฯ
บทความจาก Harvard Business Review เสนอแง่มุมทางจิตวิทยาไว้อย่างน่าสนใจว่า โดยปกติแล้ว มนุษย์มักมีกลไกหลีกเลี่ยงภัยคุกคามทุกประเภท กล่าวคือเรารับรู้ว่ามีปัญหานี้อยู่ รู้ดีว่ามันร้ายแรงแค่ไหน แต่จะให้ลุกขึ้นมาส่งเสียง หรือทำอะไรเชิงรุก เป็นสิ่งซึ่ง “ไม่เต็มใจ’ จะทำ
ที่มา: Harvard Business Review, Pew Research
ข่าวที่เกี่ยวข้อง