แน่นอนว่าการแก้ไขปัญหาจากภาวะโลกร้อนคงไม่ใช่เรื่องง่ายหรือจะเห็นผลได้ในเวลาอันสั้น แต่ในปี 2024 นี้ นับเป็นปีที่เราได้เห็นความก้าวหน้าและความสำเร็จมากมายจากความพยายามที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
แม้ว่าปี 2024 จะถือเป็นอีกปีที่ยากลำบากสำหรับสภาพอากาศและธรรมชาติ ตั้งแต่อุณหภูมิโลกที่พุ่งสูงถึง 1.5 องศาเซลเซียส ไปจนถึงความผิดหวังของประเทศที่เปราะบางจากการประชุม COP29 ทั้งยังมีภัยพิบัติจากสภาพอากาศเลวร้ายที่สร้างความสูญเสียต่อหลายประเทศทั่วโลก
แต่ในปีนี้ก็ยังมีความสำเร็จที่หลายคนอาจจะมองข้ามไป และนี่คือ 7 ความก้าวหน้าในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ซึ่งนับเป็นความหวังครั้งใหญ่ให้ทั่วโลกได้เรียนรู้ว่า ความพยายามของพวกเราไม่ได้สูญเปล่า
1. การสิ้นสุดของยุคถ่านหินในสหราชอาณาจักร
สหราชอาณาจักรปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งสุดท้ายในปี 2567 นับเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าที่สำคัญ เนื่องจากสหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรกในโลกที่ใช้ถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้าสาธารณะ และเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งถือเป็นเส้นเลือดหลักของการปฏิวัติอุตสาหกรรม
โดยเมื่อวันที่ 30 กันยายน กังหันน้ำที่โรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งสุดท้ายในนอตทิงแฮมเชียร์ได้หยุดการทำงานและปล่องไฟก็หยุดปล่อยควันมลพิษ ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการปลดประจำการและรื้อถอนเป็นเวลา 2 ปี แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะกลายเป็นอย่างไรหลังจากนั้น แต่มีข้อเสนอหนึ่งคือการเปลี่ยนให้เป็นโรงงานกักเก็บแบตเตอรี่
2. การเพิ่มขึ้นของพลังงานสีเขียวทั่วโลก
แหล่งพลังงานหมุนเวียนกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วทั่วโลกเช่น ในสหรัฐฯ การผลิตพลังงานลมได้ทำลายสถิติในเดือนเมษายน แซงหน้าการผลิตพลังงานจากถ่านหินในประเทศ
ด้านสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) คาดว่าโลกจะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียน 5,500 กิกะวัตต์ระหว่างนี้จนถึงปี 2030 และเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนทั่วโลก 2.7 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2022 ซึ่งยังต่ำกว่าเป้าหมายของสหประชาชาติเล็กน้อยที่จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็นสามเท่าภายในปี 2030 และภายในสิ้นทศวรรษนี้คาดว่าแหล่งพลังงานหมุนเวียนจะสามารถตอบสนองการผลิตไฟฟ้าได้เกือบครึ่งหนึ่งของทั้งหมด
ที่น่าทึ่งคือส่วนแบ่งที่ใหญ่หลวงของการเติบโตนี้มาจากเพียงประเทศเดียวเท่านั้น นั่นคือ จีน โดย IEA คาดการณ์ว่าภายในปี 2030 จีนจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของโลก
3. แม่น้ำ ภูเขา คลื่น และปลาวาฬ ที่ได้รับสถานะบุคคลตามกฎหมาย
ย้อนกลับไปในปี 2021 รัฐบาลเอกวาดอร์ได้ออกคำตัดสินสำคัญที่ระบุว่าการทำเหมืองในป่า Los Cedros ถือเป็นการละเมิดสิทธิของธรรมชาติ และมีคำตัดสินอีกฉบับในเอกวาดอร์ระบุว่า การสร้างมลพิษ ถือเป็นการละเมิดสิทธิของแม่น้ำ Machángara ที่ไหลผ่านกรุงกีโต ก่อนที่ต่อมาจะมีการเผยแพร่รายงานซึ่งพบว่าคำตัดสินดังกล่าวสามารถช่วยปกป้องระบบนิเวศที่ใกล้สูญพันธุ์ได้
นอกเหนือจากเอกวาดอร์แล้ว ยังมีพื้นที่ธรรมชาติและพื้นที่อื่นๆ อีกจำนวนมากที่ได้รับสถานะบุคคลตามกฎหมายในปี 2024 เช่น ในนิวซีแลนด์ ยอดเขาของอุทยานแห่งชาติเอ็กมอนต์ ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น Te Papakura o Taranaki ได้รับการยอมรับให้เป็น 'ภูเขาบรรพบุรุษ' และได้รับการจัดตั้งเป็นบุคคลตามกฎหมายร่วมกันซึ่งรู้จักกันในชื่อ Te Kāhui Tupua
ในบราซิล ส่วนหนึ่งของมหาสมุทรได้รับการกำหนดให้เป็นบุคคลตามกฎหมาย โดยเมืองชายฝั่งลินฮาเรสยอมรับคลื่นทะเลเป็นสิ่งมีชีวิต ซึ่งให้สิทธิในการดำรงอยู่ และฟื้นฟูมหาสมุทร ในขณะเดียวกัน สนธิสัญญาฉบับใหม่ที่จัดทำโดยผู้นำชนพื้นเมืองแปซิฟิกทำให้ปลาวาฬและปลาโลมาได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการว่าเป็น "บุคคลตามกฎหมาย"
แจคเกอลีน กัลแลนต์ ทนายความด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และสิทธิ กล่าวว่า..
“ความเป็นบุคคลตามกฎหมายทำให้เกิดความเข้าใจว่าธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ควรได้รับการเข้าใจในฐานะบุคคล [ตรงข้ามกับวัตถุ] ซึ่งมีคุณค่าในตัวเอง มีความสนใจและความต้องการเป็นของตัวเอง”
4. มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือได้รับการคุ้มครอง
มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือได้รับประกาศเป็นเขตคุ้มครองทางทะเล (MPA) แห่งใหม่โดยหมู่เกาะอาซอเรส มีพื้นที่คุ้มครอง 287,000 ตารางกิโลเมตร นับเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเลที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค โดยครึ่งหนึ่งจะได้รับการ "คุ้มครองอย่างเต็มที่" โดยไม่มีการประมงหรือการสกัดทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ตามแผนริเริ่มที่อยู่เบื้องหลัง MPA ส่วนอีกครึ่งหนึ่งจะได้รับการ "คุ้มครองอย่างเข้มงวด"
พื้นที่นี้ประกอบด้วยปล่องน้ำพุร้อน 9 แห่ง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเล 28 สายพันธุ์ ปลา 560 สายพันธุ์ และอื่นๆ อีกมากมาย
การประกาศ ‘เขตคุ้มครองทางทะเล’ สามารถปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากมีการบังคับใช้ข้อจำกัดอย่างเหมาะสม โดยรายงานของ Bloomberg Philanthropies Ocean Initiative ระบุว่า มีมหาสมุทรของโลกเพียง 2.8% เท่านั้นที่ได้รับการปกป้องอย่างมีประสิทธิผล และมีเพียง 8.3% เท่านั้นที่ได้รับการอนุรักษ์
5. การตัดไม้ทำลายป่าแอมะซอน ลดลงต่ำสุดในรอบ 9 ปี
ในปีนี้ การตัดไม้ในป่าอเมซอนของบราซิล ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 9 ปี โดยลดลงมากกว่า 30% ในช่วง 12 เดือนจนถึงเดือนกรกฎาคม ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าที่น่ายินดี หลังผ่านมาเกือบสองปีนับตั้งแต่ประธานาธิบดีลูอิส อีนาซียู ลูลา ดา ซิลวา เข้ารับตำแหน่ง และให้คำมั่นว่าจะยุติการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2030 รวมถึงปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าที่ผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีป่าฝนถูกทำลายไปถึง 6,288 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ใหญ่กว่ารัฐเดลาแวร์ของสหรัฐอเมริกา ขณะที่ไฟป่ายังคงเกิดเพิ่มขึ้นเกือบ 18 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน เนื่องจากภัยแล้งครั้งประวัติศาสตร์
6. การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเริ่มเห็นผลลัพท์เชิงบวก
ความพยายามในการอนุรักษ์ของโครงการต่างๆ ที่ทำกันมานานหลายปี เริ่มเห็นความก้าวหน้าในปีนี้ โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจสอบแผนการอนุรักษ์ 665 แผนทั่วโลก รวมถึงแผนการอนุรักษ์ในอดีตหลายแผน และพบว่าแผนการอนุรักษ์ 2 ใน 3 มีผลในเชิงบวกอย่างชัดเจน
ยกตัวอย่างหนึ่งคือโครงการอนุรักษ์ Altyn Dala เพื่อช่วยเหลือแอนทีโลปไซกาในคาซัคสถานที่ใกล้สูญพันธุ์และเหลือจำนวนเพียง 20,000 ตัวในปี 2003 แต่หลังจากความพยายามในการติดตาม ติดแท็ก การปกป้องและฟื้นฟูถิ่นที่อยู่อาศัยอย่างรอบคอบ ก็ทำให้จำนวนแอนทีโลปฟื้นตัวได้ในที่สุด โดยปัจจุบันมีแอนทีโลปกว่า 2.86 ล้านตัวที่อาศัยอยู่ในทุ่งหญ้าสเตปป์สีทอง และได้รับการเลื่อนสถานะจาก "ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง" เป็น "ใกล้ถูกคุกคาม"
7. การส่งเสียงของชนพื้นเมืองไม่ไร้ความหมาย
ในปีนี้ทั่วโลกยังได้เห็นว่า ความพยายามยาวนานหลายทศวรรษของชนเผ่าพื้นเมืองในแคลิฟอร์เนีย ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า หลังพวกเขาหยุดล่าปลาไปนานถึง 100 ปี และเรียกร้องให้มีการรื้อเขื่อนที่กีดขวางการอพยพของปลาแซลมอน จนกระทั่งในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สหรัฐฯ ยอมรื้อถอนเขื่อนทั้ง 4 แห่งตามคำเรียกร้อง ก่อนจะพบว่าปลาแซลมอนเริ่มว่ายอพยพกลับมาจากมหาสมุทร เพื่อวางไข่ที่แม่น้ำคลาแมธอีกครั้ง
แต่เดิมทางชนเผ่าคาดว่าอาจต้องใช้เวลานานหลายเดือน กว่าจะมีแซลมอนว่ายกลับมาในบริเวณดังกล่าว เนื่องจากคุณภาพน้ำยังไม่ฟื้นฟูกลับมาอย่างสมบูรณ์ แต่เมื่อเดือนตุลาคมพวกเขาก็พบแซลมอนตัวแรกที่ว่ายกลับมาในรอบกว่า 100 ปีแล้ว ซึ่งเกินความคาดหมายและน่ายินดีมาก
ที่มา: BBC