SHORT CUT
หิมะมีความสำคัญในฐานะแหล่งกักเก็บน้ำ หล่อเลี้ยงธารน้ำแข็ง ลำธารบนภูเขา ถ้าหิมะน้อยลงแสดงว่า แหล่งน้ำสำคัญๆ ก็จะค่อยๆ หายไปด้วย
การลดลงของหิมะ สะเทือนถึงหลายประเทศที่ทำรายได้จากการท่องเที่ยว และ การเล่นสกีในฤดูหนาว ที่อาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ผลการศึกษาใหม่ล่าสุด ของทีมนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์ Eurac ในอิตาลี เปิดเผยว่า ปริมาณหิมะที่ตกลงมาบนเทือกเขาแอลป์ ลดลง 1 ใน 3 หรือราว 34% ในรอบ 100 ปี ขณะที่บางประเทศ อย่าง อิตาลี, สโลวีเนีย ออสเตรีย สูญเสียหิมะเกือบครึ่งหนึ่งในช่วงเวลาเดียวกัน
การศึกษาครั้งนี้เป็นหนึ่งในการศึกษาแรกๆ ที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งเทือกเขาแอลป์และใช้เวลาศึกษาค่อนข้างนาน แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ที่หิมะละลายเป็นน้ำมากขึ้น ตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา
เป็นที่ทราบกันดีว่าหิมะที่ปกคลุมบนเทือกเขาแอลป์เริ่มตกเป็นจุดหย่อม ๆ แต่การศึกษาที่นำโดยนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัย Eurac ในอิตาลี เป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่พิจารณาสถานการณ์นี้อย่างกว้างไกล หลังจากผลการศึกษาใหม่บ่งชี้ว่าในระหว่างปี 1920 ถึงปี 2020 มีหิมะตกลดลงเฉลี่ย 34% ทั่วเทือกเขาแอลป์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริเวณเนินเขาทางตะวันตกเฉียงใต้ ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก
Michele Bozzoli นักอุตุนิยมวิทยาสิ่งแวดล้อมที่ศูนย์วิจัย Eurac และ ผู้เขียนหลักของการศึกษาใหม่ ระบุว่า มีแนวโน้มเชิงลบอย่างเห็นได้ชัดในแง่ของหิมะตกใหม่ที่โปรยปรายลงมาบนเทือกเขาแอลป์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีการลดลงอย่างเห็นได้ชัดหลังปี 1980 ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วพอๆ กัน หรือ กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเปลี่ยนโฉมหน้าของเทือกเขาที่สูงที่สุดและกว้างที่สุดของยุโรปไปอย่างมาก
นักวิทยาศาสตร์รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณหิมะและปริมาณน้ำฝนที่ตกตามฤดูกาล จากพื้นที่ 46 แห่ง ทั่วเทือกเขาแอลป์ ไล่ตั้งแต่ฝรั่งเศสไปจนถึงสโลวีเนีย
นอกจากนี้ยังนำข้อมูลล่าสุดที่ได้มาจากสถานีตรวจอากาศสมัยใหม่ มาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่รวบรวมจากบันทึกที่เขียนด้วยลายมือโดยผู้สังเกตการณ์ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นการพิเศษ ซึ่งบันทึกว่ามีหิมะตกกี่นิ้วในสถานที่ที่กำหนดไว้
ศูนย์วิจัย Eurac ยังรวมมือกับสำนักงานอุตุนิยมวิทยา หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม กลุ่มอาสาสมัครและมหาวิทยาลัยเทรนโต เพื่อสร้างและเชื่อมโยงภาพรวมของปริมาณหิมะที่ตกบนเทือกเขาแอลป์อย่างครอบคลุม ตลอดระยะเวลากว่า 100 ปี
สถานการณ์แตกต่างกันออกไป ไล่ตั้งแต่ปริมาณหิมะที่ลดลง 23% ในพื้นที่ทางตอนเหนือของเทือกเขาแอลป์ ไปจนถึงหิมะที่ตกลดลงเกือบ 50% บนเนินเขาทางตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่ง Michele Bozzoli ระบุว่า แนวโน้มเชิงลบมากที่สุดเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่อยู่ต่ำกว่าระดับความสูง 2,000 เมตร และอยู่ในพื้นที่ทางตอนใต้ของเทือกเขาแอลป์ เช่น อิตาลี สโลวีเนีย และบางส่วนของเทือกเขาออสเตรียน แอลป์
ในเชิงเขาอัลไพน์ทางตอนเหนือ อย่าง สวิตเซอร์แลนด์และทีโรลเหนือในอิตาลี นักวิจัยตั้งข้อสังเกตถึงบทบาทสำคัญของระดับความสูงด้วย
แม้ว่าปริมาณหยาดน้ำฟ้าจะเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว แต่ปริมาณหิมะก็จะกลายเป็นฝนมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อตกโปรยปรายลงมาบนระดับความสูงที่ต่ำกว่า เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ในพื้นที่ทางใต้ อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นถึงขั้นที่แม้ในระดับที่สูงกว่าของเทือกเขาแอลป์ ก็มักพบว่าฝนตกลงมามากกว่าหิมะอยู่บ่อยครั้ง
Michele Bozzoli อธิบายว่า นั่นเป็นข่าวร้ายด้วยเหตุผลหลายประการ เนื่องจาก หิมะมีความสำคัญในฐานะแหล่งกักเก็บน้ำ หล่อเลี้ยงธารน้ำแข็ง ลำธารบนภูเขา และเมื่อหิมะละลายอย่างช้าๆ ในฤดูใบไม้ผลิ ก็จะช่วยเติมแหล่งน้ำสำรองขึ้นอย่างช้าๆ
การเล่นสกีและการท่องเที่ยวก็มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจในพื้นที่เหล่านี้เช่นกัน และไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ หากปราศจากหิมะ
Michele Bozzoli เสริมว่า ปริมาณหิมะที่ลดลงไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อกีฬาฤดูหนาวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกิจกรรมและกระบวนการทั้งหมดที่ต้องอาศัยน้ำด้วย ซึ่งประเด็นนี้ไม่อาจถูกละเลยหรือถูกมองข้ามในการวางแผนนโยบายการบริหารจัดการน้ำได้อีกต่อไป
ทั้งนี้ การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Climatology ยังเน้นย้ำถึงคุณสมบัติการสะท้อนแสงที่มีความสำคัญของหิมะ ซึ่งมีอิทธิพลต่อรูปแบบสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคอีกด้วย
ที่มา : Euronews