เมื่ออังกฤษรีดเงินจากคน 1% ของประเทศ มาช่วยเหลือผู้คนอีก 99% ที่กำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เรื่องราวนี้น่าสนใจไม่น้อย
ในยุคสมัยที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ดูเหมือนว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่มีภาพของบุคคลมีชื่อเสียงใช้เครื่องบินเจ็ทส่วนตัวในการเดินทาง มักมาพร้อมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือด จนในแต่ละปีทุกคนต่างจับจ้อง 10 อันดับคนดังที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากที่สุดในโลก
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าผู้คนมีสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น หากว่ากันตามตำรา เครื่องบินเจ็ทส่วนตัวปล่อยก๊าซคาร์บอนประมาณ 4.9 กิโลกรัมต่อไมล์ ขณะที่เครื่องบินพาณิชย์ปล่อยก๊าซคาร์บอนประมาณ 85 กรัมต่อกิโลเมตร (ต่อคน)
จากรายงานของ Transport & Environment องค์กรรณรงค์การขนส่งสะอาดแห่งยุโรป ระบุว่า เครื่องบินเจ็ทส่วนตัวปล่อยมลพิษมากกว่าเครื่องบินพาณิชย์ถึง 14 เท่าต่อผู้โดยสารหนึ่งคน และมากกว่ารถไฟถึง 50 เท่า ด้วยเหตุฉะนี้ รัฐบาลหลายประเทศจึงผุดไอเดียเก็บภาษีเจ็ทส่วนตัวเพื่อนำไปปลอบประโลมสิ่งแวดล้อม
ล่าสุด มีการเปิดเผยออกมาว่าสหราชอาณาจักรสามารถเก็บภาษีเจ็ทส่วนตัว และเรือยอร์ชส่วนตัว รวมกันได้ประมาณ 2 พันล้านปอนด์ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 8.7 หมื่นล้านบาท และนำเงินก้อนนี้ไปช่วยเหลือชุมชน หรือกลุ่มเปราะบางทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพอากาศ
ข้อมูลจาก bettertransport ระบุว่า ในปี 2021 สหราชอาณาจักรมีเที่ยวบิน (ทั้งขาเข้าและขาออก) กว่า 135,505 ไฟลท์ ในบทความชิ้นนี้ใช้คำว่า “การเดินทางเหล่านี้แทบไม่มีความจำเป็น พวกเขาแค่ต้องการอวดความร่ำรวยโดยไม่คำนึกถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา”
เมื่อค้นข้อมูลจากเว็บไซต์ Taxscape พบว่า เจ้าของเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว (ในสหราชอาณาจักร) ต้องเสียภาษี 78 ปอนด์ หรือประมาณ 3,418 บาทต่อหนึ่งเที่ยวบิน
เงินอีกหนึ่งก้อนที่น่าสนใจคือภาษีเชื้อเพลิงเจ็ทส่วนตัว เว็บไซต์ compareprivateplanes ระบุว่า เครื่องบินเจ็ทส่วนตัวในสหราชอาณาจักรต้องจ่ายภาษีน้ำมันสำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ (สหราชอาณาจักร) แต่เมื่อบินไปยังปลายทางในยุโรปไม่ต้องจ่ายเงินในส่วนนี้ เบ็ดเสร็จแล้ว แดนผู้ดีสามารถเก็บภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน (ทุกประเภท) ได้มากถึง 5.9 พันล้านปอนด์ในปี 2023
ด้วยเหตุฉะนี้ อาจพอสรุปได้ว่าเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวดูเหมือนมีประโยชน์แก่ผู้โดยสาร 1% แต่มีโทษแก่สิ่งแวดล้อมกับผู้คนคนอีก 99% เหลือคณานับ หลาย ๆ ประเทศตัดปัญหาด้วยการผุดมาตรการเรียกเก็บภาษี หรือสั่งแบนเที่ยวบินระยะสั้น ซึ่งแต่ละประเทศก็มีวิธีรับมือกันคนละแบบ แต่มีวงกลมเดียวกันคือทำเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น
ที่มา: compareprivateplanes, The Guardian
ข่าวที่เกี่ยวข้อง