SHORT CUT
แม้จะสามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า แต่หลายประเทศในเอเชียก็ยังคงได้รับความเสียหายหนักจากผลกระทบของพายุ "ยางิ" เกินกว่าที่คาดคิด ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่า "โลกร้อน" คือปัจจัยสำคัญของภัยพิบัติครั้งนี้
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว "ซูเปอร์ไต้ฝุ่นยางิ" ได้ทิ้งร่องรอยความเสียหายไว้ในฟิลิปปินส์ พัดถล่มทำลายล้างเกาะไหหลำของจีน ก่อนจะเคลื่อนตัวเข้าถล่มทางตอนเหนือของเวียดนาม ทำให้เกิดแผ่นดินถล่ม น้ำท่วม คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 127 บาดเจ็บหลายร้อยคน ผู้คนนับล้านทั่วภูมิภาคไม่มีไฟฟ้าใช้ และหลายคนจำเป็นต้องอพยพหนีออกจากบ้าน
ด้วยความเร็วลมสูงสุดอย่างน้อย 203 กม./ชม. ยางิจึงเป็นพายุไซโคลนเขตร้อนที่ทรงพลังเป็นอันดับสองของโลกจนถึงปีนี้ รองจากพายุเฮอริเคนเบริล และเป็นพายุที่รุนแรงที่สุดในเอเชียปีนี้เช่นกัน
"ซูเปอร์ไต้ฝุ่น" เป็นพายุที่มีความรุนแรงเทียบเท่ากับพายุเฮอริเคนระดับ 5 ซึ่งเป็นระดับที่รุนแรงที่สุด
แม้ว่าจะมีชื่อแตกต่างกันไปตามพื้นที่ที่เกิดขึ้น แต่เฮอริเคน ไต้ฝุ่น และไซโคลน ล้วนมีกลไกการหมุนวนขนาดใหญ่ที่ใช้อากาศอุ่นและชื้นเป็นเชื้อเพลิง พวกมันจะเริ่มก่อตัวขึ้นในน่านน้ำเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร บริเวณที่ผิวทะเลมีอุณหภูมิอย่างน้อยราว 27 องศาเซลเซียส
โดยปกติพายุหมุนเขตร้อนจะเริ่มอ่อนกำลังลงเมื่อเคลื่อนตัวเข้าสู่แผ่นดิน เนื่องจากไม่ได้รับพลังงานจากน้ำทะเลอุ่นอีกต่อไป แต่กว่าจะถึงจุดที่พายุสลายตัว มันก็สร้างความเสียหายระดับหายนะในทุกพื้นที่ที่เคลื่อนตัวผ่านไป
การก่อตัวของพายุสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์พบว่า "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" คือสาเหตุที่ทำให้พายุไต้ฝุ่น พายุเฮอริเคน และพายุไซโคลน มีความรุนแรงขึ้นกว่าปกติ เพราะน้ำทะเลที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น ยิ่งกลายเป็นพลังงานสำคัญที่ทำให้พายุเพิ่มความเร็วลมได้มากกว่าเดิม
บรรยากาศที่อุ่นขึ้นยังกักเก็บความชื้นเอาไว้ ทำให้บริเวณที่เกิดพายุ มีฝนตกหนักมากขึ้น ส่งผลให้พายุยังสามารถเคลื่อนตัวปกคลุมแผ่นดินได้เป็นระยะเวลานาน ขณะที่ระดับน้ำทะเลซึ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องก็มีบทบาทในการสร้างความเสียหายต่อชุมชนชายฝั่งขณะเกิดพายุเช่นกัน
นั่นหมายความว่า หากอุณหภูมิของโลกและน้ำทะเลยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็มีโอกาสที่เราจะได้เผชิญกับซูเปอร์ไต้ฝุ่นที่มีความรุนแรงมากกว่านี้ในอนาคต
ที่มา: euronews