SHORT CUT
นักวิทย์เร่งจับโลมาอเมซอนมาศึกษาเพื่อหาหนทางอนุรักษ์ไม่ให้พวกมันหายไป หลังความร้อนได้ส่งผลให้มีโลมาตายถึง 300 ตัวภายในปีเดียว
สัปดาห์ที่ผ่านมา ทีมนักชีววิทยา สัตวแพทย์ และชาวประมง ได้ช่วยกันจับโลมาน้ำจืดพันธุ์หายากได้จากทะเลสาบในอเมซอน เพื่อทำการศึกษาวิจัย โดยหวังว่าจะหาวิธีหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิม หลังมีโลมาน้ำจืดต้องตายหลายร้อยตัวเนื่องจากภัยแล้งรุนแรงเมื่อปีที่แล้ว
โลมาที่ถูกจับได้ จะถูกนำขึ้นฝั่งเพื่อตรวจเลือดและตรวจร่างกาย รวมถึงการใส่ไมโครชิปเพื่อติดตามการเคลื่อนไหวและพฤติกรรมของมันผ่านดาวเทียม ก่อนจะส่งกลับไปยังทะเลสาบทันทีที่นักวิจัยทำงานเสร็จ
นักวิจัยเชื่อว่าระดับแม่น้ำที่ลดลงต่ำในช่วงฤดูแล้ง ทำให้น้ำมีอุณหภูมิร้อนเกินกว่าที่โลมาจะทนได้ มีปลาหลายพันตัวตายในแม่น้ำอเมซอนเนื่องจากขาดออกซิเจนในน้ำ และมีโลมากว่า 300 ตัว ที่ตายด้วยสาเหตุเดียวกัน
โลมาแม่น้ำอเมซอน ซึ่งมีสีชมพูโดดเด่น เป็นสายพันธุ์น้ำจืดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ พบได้ในแม่น้ำของอเมริกาใต้เท่านั้น และเป็นหนึ่งในโลมาน้ำจืดเพียงไม่กี่สายพันธุ์ที่เหลืออยู่ในโลก วงจรการสืบพันธุ์ที่ช้าทำให้ประชากรของพวกมันเสี่ยงต่อการถูกคุกคามเป็นพิเศษ
บรรดานักวิทย์ต่างยืนยันว่า สภาวะไม่ปกตินี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทำให้ภัยแล้งและคลื่นความร้อนมีแนวโน้มจะเกิดบ่อยรุนแรงยิ่งขึ้นอีกหลังจากนี้