svasdssvasds

ถอดบทเรียน 3 ประเทศเอเชีย เตรียมการรับมือภัยพิบัติอย่างจริงจัง

ถอดบทเรียน 3 ประเทศเอเชีย เตรียมการรับมือภัยพิบัติอย่างจริงจัง

ภัยพิบัติสามารถเกิดขึ้นที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ และนั่นหมายถึงความสูญเสียที่คุกคามชีวิตคนจำนวนมาก การเตรียมรับมือภัยพิบัติจึงเป็นเรื่องจำเป็นของทุกประเทศ และนี่คือ 3 ประเทศในเอเชียที่มีการเตรียมความพร้อมอย่างเข้มงวดที่สุด

SHORT CUT

  • ญี่ปุ่น เคยประสบแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ พวกเขาสร้างอาคารบ้านเรือนให้มั่นคงกว่าเดิม มีระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวที่ทันสมัยที่สุดในโลก
  • อินโดนีเซีย เผชิญภัยคุกคามจากธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง เมืองหลวงกำลังค่อยๆจมลงทะเล ต้องเร่งลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
  • ฟิลิปปินส์ เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติมากที่สุดในโลก ทุ่มเงินทุนกว่า 800 ล้านดอลลาร์เพื่อตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินโดยเฉพาะ

ภัยพิบัติสามารถเกิดขึ้นที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ และนั่นหมายถึงความสูญเสียที่คุกคามชีวิตคนจำนวนมาก การเตรียมรับมือภัยพิบัติจึงเป็นเรื่องจำเป็นของทุกประเทศ และนี่คือ 3 ประเทศในเอเชียที่มีการเตรียมความพร้อมอย่างเข้มงวดที่สุด

ไม่มีใครอยากเผชิญกับเหตุภัยพิบัติ เพราะนั่นหมายถึงโศกนาฏกรรมที่สามารถทำลายที่อยู่อาศัย อาคารบ้านเรือน และคุกคามชีวิตของผู้คนจำนวนมาก แต่กลับมีน้อยคนที่จะเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตจริงเมื่อไหร่ก็ได้ และอาจมีไม่กี่ประเทศที่เตรียมมาตรการสำหรับรับมือภัยพิบัติทุกรูปแบบอย่างจริงจัง

ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ คือสามประเทศในเอเชียที่มักจะเผชิญกับความเสี่ยงต่อภัยพิบัติอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นพายุไต้ฝุ่น แผ่นดินไหว หรือน้ำท่วม จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่รัฐบาลของพวกเขาจะต้องเตรียมพร้อมรับมือสำหรับเหตุฉุกเฉินใดๆ ก็ตามที่อาจเกิดขึ้น และนี่คือสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้จากการเผชิญภัยพิบัติครั้งแล้วครั้งเล่า

  • ญี่ปุ่น

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2466 ที่ราบคันโตของญี่ปุ่นประสบแผ่นดินไหวครั้งใหญ่มาก วัดความรุนแรงได้ระดับ 7.9 ส่งผลอาคารและบ้านเรือนในหลายเมืองเหลือแต่ซากปรักหักพัง ซ้ำเติมด้วยพายุไต้ฝุ่น ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน จนเกิดแนวคิดเรื่องการย้ายเมืองหลวงขึ้นมา

แต่สุดท้าย ญี่ปุ่นตัดสินใจล้มเลิกความคิดที่จะย้ายเมืองหลวง แล้วสร้างมันขึ้นมาใหม่ให้มั่นคงกว่าเดิม อาคารไม้และอิฐถูกแทนที่ด้วยคอนกรีตและเหล็ก ตามด้วยการสร้างถนนมอเตอร์เวย์ ระบบรถไฟใต้ดิน และสนามบิน โดยไม่หวั่นว่าจะเกิดภัยพิบัติอีกครั้ง

ญี่ปุ่นตั้งอยู่ใกล้กับลุ่มน้ำแปซิฟิก จึงมีแนวโน้มที่จะเกิดแผ่นดินไหวได้ง่ายกว่าประเทศส่วนใหญ่ แต่นั่นยิ่งผลักดันให้ญี่ปุ่นก้าวขึ้นเป็นผู้นำระดับโลกในการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ พวกเขาตั้งให้วันที่ 1 กันยายนซึ่งตรงกับวันแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ให้เป็นวันป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติ ทั้งภาครัฐ-เอกชนและโรงเรียนหลายแห่ง จะจัดให้มีการฝึกซ้อมอพยพ ซึ่งแม้แต่นายกรัฐมนตรีก็ต้องเข้าร่วมการซ้อมด้วย

ญี่ปุ่นยังมีระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวล่วงหน้าที่ทันสมัยที่สุดในโลก รวมถึงระบบเตือนภัยสึนามิซึ่งประกอบด้วยเซ็นเซอร์ 300 ตัว และเซ็นเซอร์ทางน้ำ 80 ตัว ที่จะคอยตรวจจับการสั่นไหวของแผ่นดิน มีสถานพักพิงที่ปลอดภัยจากแผ่นดินไหวและสึนามิจำนวนหลายร้อยแห่งตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันออก สร้างประตูระบายน้ำและกำแพงป้องกันสึนามิในหลายเมือง ทั้งยังมีการปรับปรุงและอัปเกรดความปลอดภัยและแนวปฏิบัติด้านอาคารอย่างต่อเนื่อง

ถอดบทเรียน 3 ประเทศเอเชีย เตรียมการรับมือภัยพิบัติอย่างจริงจัง

  • อินโดนีเซีย

อินโดนีเซียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เผชิญภัยคุกคามจากธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ทั้งแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สามารถสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจได้ถึงสามเปอร์เซ็นต์ของ GDP สึนามิ น้ำท่วม และภัยแล้ง ที่กระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร ไปจนถึงดินถล่มและภูเขาไฟระเบิด ขณะที่ประชากรของประเทศเกือบ 25 ล้านคน ยังต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง 

กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย ยังประสบปัญหาการค่อยๆจมลงทะเลที่ 3.5 เซนติเมตรต่อปี โดยที่เมืองนี้อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลประมาณร้อยละ 40 ทำให้เสี่ยงต่อน้ำท่วมได้ง่าย และอาจกลายเป็นเมืองที่จมอยู่ใต้น้ำในอนาคต

เพื่อรับมือเหตุฉุกเฉินเหล่านั้น อินโดนีเซียมีการวางโครงสร้างและกระบวนการต่างๆ มากมาย เช่น จัดตั้งสำนักงานจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติขึ้นโดยให้กระจายอยู่ในจังหวัดและอำเภอต่างๆ ทั่วประเทศ ในฐานะหน่วยงานจัดการภัยพิบัติในพื้นที่

อินโดนีเซียยังได้รับงบประมาณสำหรับความช่วยเหลือ มูลค่ากว่า 550 ล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากญี่ปุ่น โดยรัฐบาลได้นำไปจัดสรรลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ระหว่างปี 2549-2553 รวมถึงนโยบายต่างๆ ที่เน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญกับภัยคุกคามอย่างจริงจัง

ถอดบทเรียน 3 ประเทศเอเชีย เตรียมการรับมือภัยพิบัติอย่างจริงจัง

  • ฟิลิปปินส์

เมื่อประเทศประกอบด้วยเกาะมากกว่า 7,000 เกาะและแนวชายฝั่งยาว 36,000 กิโลเมตร ฟิลิปปินส์จึงเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติมากที่สุดในโลก 74% ของประชากรมีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะกรุงมะนิลาซึ่งถือเป็นพื้นที่เสี่ยงสูง ทั้งพายุไต้ฝุ่น น้ำท่วม และดินถล่ม

ในช่วงปี พ.ศ.2526-2555 มีผู้เสียชีวิตจากพายุ 24,281 ราย และมีประชาชนอีกเกือบ 100 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากพายุดังกล่าว สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่ารวมกว่า 5.9 พันล้านดอลลาร์ 

เพื่อเฝ้าระวังภัยพิบัติต่างๆ ฟิลิปปินส์ก็ได้รับเงินสนับสนุนการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติจำนวน 834 ล้านดอลลาร์จากประชาคมระหว่างประเทศ แน่นอนว่าส่วนใหญ่มาจากญี่ปุ่น โดยคาดว่าเงินทุนมากกว่า 500 ล้านดอลลาร์จะนำไปใช้ในการตอบสนองเหตุฉุกเฉิน 

นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ผ่านกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับอาคารและการจัดการการใช้ที่ดินแล้ว เพียงแค่ยังไม่ได้มีการบังคับใช้อย่างเข้มงวด ยังมีอีกหลายสิ่งที่ภาครัฐต้องดำเนินการเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ อย่างไรก็ตามสิ่งต่างๆ กำลังดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้องอย่างแน่นอน

ถอดบทเรียน 3 ประเทศเอเชีย เตรียมการรับมือภัยพิบัติอย่างจริงจัง

ที่มา: