ขณะนี้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศกำลังส่งผลกระทบต่อชายหาดทั่วโลก สปริงนิวส์พาไปดู 4 กรณีศึกษา จาก 4 ประเทศทั่วโลก
ชายหาดกลายเป็นพื้นที่ที่เปราะบาง เพราะปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทำให้เกิดพายุบ่อยขึ้น รุนแรงขึ้น และยังทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูง พื้นที่ชายหาดของแต่ละประเทศทั่วโลกจึงประสบปัญหาคล้ายๆกันคือถูกกัดเซาะจนหายไปเรื่อย ๆ
ประเทศไทยของเราก็เช่นกัน อย่างเช่นเมื่อเดือนก่อนหน้านี้ บริเวณหาดจอมเทียน พัทยา ก็ประสบปัญหาคลื่นลมแรง จนทำให้เกิดการกัดเซาะชายหาดเป็นแนวยาวถึง 1,000 เมตร
ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ชายหาดพัทยา แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทย ก็ประสบปัญหาการถูกกัดเซาะของชายหาดอย่างร้ายแรง โดยปัจจุบัน ชายหาดมีความกว้างเหลือเพียงประมาณ 3 เมตรเท่านั้น
ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลไทยก็พยายามเร่งแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วน ทั้งสร้างแนวกั้นคลื่น ซึ่งตรงนี้ก็ยังเป็นปัญหาถกเถียงอยู่บ่อยครั้งว่ามันสามารถปกป้องชายหาดได้จริงหรือไม่ หรือมันเพิ่มความเสี่ยงต่อการทำลายระบบนิเวศน์ชายหาด
ชายหาดมอนท์โรสในสก๊อตแลนด์กำลังถูกกัดเซาะหายไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ สิ่งที่ตามมาคือ ทำให้เมืองดังกล่าวเกิดความเสี่ยงที่จะมีน้ำท่วมเพิ่มขึ้น
โดยรายงานของ The Dynamic Coast ตั้งแต่เมื่อปี 2021 เคยคาดการณ์ว่า ชายหาดมอนท์โรสจะหายไปปีละเฉลี่ย 3 เมตร หรือหายไป 120 เมตรภายในอีก 40 ปีข้างหน้า
ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองดังกล่าวเริ่มรู้สึกไม่สบายใจทุกทีที่เริ่มเข้าสู่ฤดูพายุ อย่างเมื่อปีที่แล้ว พายุก็เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ชายหาดหายไปถึง 7 เมตรภายในหนึ่งปี
EnviroCentre ยังพบด้วยว่า การดำเนินงานเพื่อรับมือกับปัญหาชายหาดหายไปกินเม็ดเงินมหาศาลถึงราว 2 ล้านปอนด์ และตอนนี้ สภาท้องถิ่นที่รับผิดชอบดูแลก็เป็นหนี้แล้ว 50ล้านปอนด์
โดยทั่วไปแล้ว พื้นที่ส่วนใหญ่ทางชายฝั่งด้านตะวันออกและชายฝั่งอ่าวเม็กซิโกของสหรัฐฯ ล้วนได้รับผลกระทบจากปัญหาชายฝั่งถูกกัดเซาะ โดยผลการศึกษาเมื่อปี 2023 ชี้ว่า ภูมิภาคดังกล่าวมีปัญหาชายหาดหายไปอย่างรวดเร็วเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2010
ซึ่งปัญหาระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เป็นสาเหตุหลักๆในสหรัฐฯ และนำมาสู่ปัญหาพื้นที่ชายฝั่งถูกน้ำท่วม
นอกจากปัญหาเรื่องระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว อีกหนึ่งปัญหาคือ ชายหาดมักหายไปเพราะพายุเข้าพัดถล่ม ซึ่งพายุที่เกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงขึ้น ก็มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศหรือโลกร้อนเช่นกัน
ข้อมูลจากรัฐบาลสหรัฐฯชี้ว่า ปัญหาชายหาดที่หายไปสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินที่ตั้งอยู่ริมชายฝั่งราว 500 ล้านสหรัฐฯทุกปี และคาดการณ์ว่า ภายในสิ้นศตวรรษนี้ บ้านเรือนราว 1,400 หลังจะได้รับความเสียหายจากปัญหาชายหาดถูกกัดเซาะ
ชุมชนชายหาดหลายแห่งทั่วประเทศออสเตรเลีย กำลังประสบปัญหาถูกกัดเซาะ เช่นที่ชายหาดเมืองแวมบีรัล รัฐนิวเซาท์เวลส์ โดยบรรดาบ้านที่อยู่ริมชายหาดต้องรับมือกับปัญหานี้มา หลังเจอพายุร้ายแรงเมื่อปี 2020 และนับตั้งแต่นั้น พวกเขาก็เจอพายุบ่อยขึ้น ระดับน้ำทะเลก็เพิ่มขึ้น
อันเนื่องมาจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และนับจนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีข้อตกลงใดๆที่จะหาวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายมากกว่านี้ แต่ก็มีวิธีหนึ่งคือการถมทรายลงไป อย่างไรก็ตาม มีข้อถกเถียงถึงความคงทนถาวรและค่าใช้จ่ายของมันที่แพงเหลือเกิน
ปัจจุบัน ชายหาดชื่อดังหลายแห่งของออสเตรเลียประสบปัญหานี้ เช่น หาดนูซา ซึ่งถูกกัดเซาะชายหาดเพราะเจอปรากฏการณ์ลานีญาต่อเนื่องหลายปี ดร.จาเวียร์ ลีออน แห่งมหาวิทยาลัย University of the Sunshine Coast เฝ้าติดต่อชายหาดดังกล่าว และคาดการณ์ว่า ตลอดสามปีที่ผ่านมา แนวชายฝั่งหายไปราว 20 เมตร ส่วนพื้นทรายหายไปราว 7-10 เมตร
ตามปกติแล้วจะมีเต่าขึ้นมาวางไข่ที่ชายหาดดังกล่าวระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม แต่ปรากฏว่าปีนี้ไม่พบเลย โดยดร.จาเวียร์คาดเดาว่า สาเหตุเพราะชายหาดที่หายไป ทำให้ไม่มีที่ให้เต่ามาวางไข่
ทั้งนี้ นักวิจัยพบว่า ระหว่างปี 1984-2022 ชายหาดราว 48 เปอร์เซ็นต์ในออสเตรเลียประสบปัญหาถูกกัดเซาะระหว่างปีที่เกิดปรากฏการณ์ลานีญา และพบว่าพื้นที่ที่รุนแรงคือทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ
ที่มา: The Guardian, Axios, Scientific American
ข่าวที่เกี่ยวข้อง