svasdssvasds

หวั่น “ลานีญา” ทุบเศรษฐกิจปี’67 สูญ 1.4 หมื่นล้าน ชี้ระบบป้องกันนํ้า ต้องดี!

หวั่น “ลานีญา” ทุบเศรษฐกิจปี’67 สูญ 1.4 หมื่นล้าน ชี้ระบบป้องกันนํ้า ต้องดี!

สถานการณ์ “ลานีญา” ในไทยยังน่าเป็นห่วงทำฝนตก-น้ำท่วม ทุบเศรษฐกิจปี’67 สูญ 1.4 หมื่นล้าน เอกชนชี้รัฐต้องทำระบบระบายน้ำ -ป้องกันนํ้าท่วม ต้องดีมีประสิทธิภาพ

SHORT CUT

  • วันนี้สถานการณ์ “ลานีญา” ในไทยยังน่าเป็นห่วง เพราะทำฝนตก-น้ำท่วม  เกือบทุกวัน และแนวโน้มมีความรุนแรงมากขึ้น
  • หลายฝ่ายกังวล “ลานีญา” ทุบเศรษฐกิจปี’67 สูญ 1.4 หมื่นล้าน ชี้ รัฐต้องมีระบบระบาย -ป้องกันนํ้า ที่ดี
  • ชี้ช่วงวันที่ 12 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป ฝนจะกลับมาตกในประเทศไทยมากขึ้น

สถานการณ์ “ลานีญา” ในไทยยังน่าเป็นห่วงทำฝนตก-น้ำท่วม ทุบเศรษฐกิจปี’67 สูญ 1.4 หมื่นล้าน เอกชนชี้รัฐต้องทำระบบระบายน้ำ -ป้องกันนํ้าท่วม ต้องดีมีประสิทธิภาพ

เบื่อกันบ้างมั้ย? ช่วงนี้จะไปไหนมาไหน ขึ้นเหนือล่องใต้ ไปทำงานไปเที่ยว ก็ลำบากไปหมดเพราะฝนตกแทบจะทุกวัน นั่นคือ ไทยได้รับผลกระทบจาก ลานีญา” แล้ว และจะได้รับผลกระทบไปเรื่อยๆจากนี้ไป หลายพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วม น้ำหลาก เพราะปริมาณฝนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้รัฐบาลเริ่มนั่งไม่ติดแล้ว ต้องเร่งมาหารือ เพื่อหามาตรการรับมือ ลานีญา ล่าสุด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2567 ประชุมได้ติดตามร่างแผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำ และโครงการสำคัญ เพื่อให้ “น้ำถึงไร่นา น้ำสะอาดทุกหมู่บ้าน แก้ปัญหาภัยพิบัติด้านน้ำ” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พร้อมกันนี้กรมอุตุนิยมวิทยา ว่า ขณะนี้ปรากฏการณ์เอนโซที่อยู่ในสภาวะปกติได้เปลี่ยนเข้าสู่สภาวะลานีญา แล้ว ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคมไปจนถึงกันยายน 2567 และมีแนวโน้มต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณฝนตกหนักถึงหนักมากกระจายไปทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน ได้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง

แน่นอนว่าลานีญา ได้สร้างความกังวลให้หลายฝ่าย โดย นายชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการบริษัททีมกรุ๊ป (มหาชน) เเละนายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การเกิดปรากฏการณ์ลานีญาในปี 2567 มีผลกระทบกับประเทศไทยโดยตรง ซึ่งจะมีปริมาณนํ้าฝนมากกว่าปกติ และตกหนักในพื้นที่หลายจังหวัด นํ้าท่วมฉับพลัน นํ้าป่าไหลหลาก นํ้าล้นตลิ่งในหลายพื้นที่ และมีอุณภูมิลดลง

สำหรับประเทศไทยตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน-เดือนกรกฎาคม ร่องฝนที่ทำให้เกิดฝนตกตามฤดูกาล จะเลื่อนขึ้นไปอยู่ที่ประเทศลาวและคุนหมิง ประเทศจีน ฝนจะตกมากในพื้นที่ดังกล่าว จนกว่าร่องฝนและภาวะลานีญาจะกลับมาที่ประเทศไทยอีกครั้ง คือ ช่วงวันที่ 12 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป ฝนจะกลับมาตกในประเทศไทยมากขึ้น

ทั้งนี้จะเริ่มจากเริ่มจากภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในพื้นที่จังหวัดนครพนม หนองคาย อุดรธานี และข้ามไปทางภาคเหนือ เช่น น่าน แพร่ เชียงราย จะมีฝนตกหนัก มีโอกาสที่จะมีนํ้าท่วม นํ้าป่าไหลหลาก นอกจากนี้ยังมีโอกาสเกิด “พายุจร” ที่มาจากแปซิฟิก และทะเลจีนใต้ จากนั้นในเดือนกันยายน ฝนจะตกหนัก ในพื้นที่ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลางตอนบน ผลกระทบสูงมาก คาดว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นอยู่ในเกณฑ์เดียวกันกับปี 2565

จากนั้นช่วงเดือนตุลาคม 2567 ร่องฝนกับหย่อมฝนโดยธรรมชาติของลมมรสุมจะเคลื่อนตํ่าลงไป พาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตกของไทย เช่น กาญจนบุรี ราชบุรี แล้วก็พาดผ่านภาคกลางภาคกลาง ไล่ตั้งแต่ อ่างทอง สิงห์บุรี อยุธยา กรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ ขณะที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะพื้นที่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี มีจุดอ่อนที่ต้องระมัดระวังในช่วงเดือนตุลาคม เนื่องจากมีการแปรสภาพพื้นที่รับนํ้าเป็นโครงการพัฒนาต่างๆมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทีมกรุ๊ป ได้มีการวิเคราะห์อีกว่า ผลกระทบในปี 2567 จะอยู่ในระดับเดียวกับสถานการณ์นํ้าท่วมในปี 2565 ที่กระทบทุกภูมิภาคของประเทศ คิดเป็นพื้นที่ 2.9 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 1.3 ล้านไร่ที่ถูกท่วมแล้วเสียหาย ซึ่งจากสถานการณ์นํ้าท่วมในปี 2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือบ้านเรือนที่ประสบอุทกภัย ด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง และที่อยู่อาศัยวงเงินรวม 14,273.35 ล้านบาท

ลานีญา คือ สิ่งเร่งด่วนที่รัฐ และเอกชน ต้องหาแนวทางรับมือ ฝนตกหนัก น้ำท่วม ภาครัฐ ภาคเอกชน ต้องเตรียมรับมือเพื่อที่จะลดผลกระทบ ทั้งการดูแลอุปกรณ์ในการระบายนํ้า และป้องกันนํ้าท่วม ที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งติดตามข้อมูลข่าวสารสภาพอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสื่อสารกับประชาชนในพื้นที่ให้เตรียมพร้อมรับมือลานีญาที่กำลังที่เกิดขึ้นแล้ว!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

 

 

related