SHORT CUT
กรมอุตุนิยมวิทยา ออกมาคาดการณ์ปริมาณฝนประเทศไทยหลังจากนี้จะลดลงแต่ภาคเหนือและอีสานจะยังคงมีฝนตกหนัก โดยเป็นผลจาก "ลานีญา" ที่จะเริ่มจะมีผลกระทบจากนี้ไปจนถึงปลายปี
รู้หรือไม่? ลานีญา มาแล้ว! โอกาส…เสี่ยงกระทบภาคเกษตร ทำเงินเฟ้อ ข้าวของแพง
"ลานีญา" เริ่มเข้ามาให้ประเทศไทยได้เห็นแล้ว เพราะ...ฝนตก ในหลายพื้นที่เกือบทุกวัน ทำให้ปริมาณน้ำสูงขึ้น บางพื้นที่เริ่มน้ำท่วมแล้ว แน่นอนว่าผลกระทบลานีญาเสี่ยงต่อการเกษตร และอาจทำให้เงินเฟ้อ ข้าวของแพงได้
ต้องยอมรับว่าขณะนี้ทุกภูมิภาคของประเทศไทยฝนตกชุกแบบชุ่มช่ำกันทุกวัน จะเดินทางไปไหนมาไหนก็สุดแสนจะลำบาก หรืออาจเรียกได้ว่าปรากฏการณ์ลานีญาได้อย่างเต็มปากก็ว่าได้ โดยล่าสุด กรมอุตุนิยมวิทยา ออกมาคาดการณ์ปริมาณฝนประเทศไทยหลังจากนี้จะลดลงแต่ภาคเหนือและอีสานจะยังคงมีฝนตกหนัก โดยเป็นผลจาก "ลานีญา" ที่จะเริ่มจะมีผลกระทบจากนี้ไปจนถึงปลายปี
จากปรากฏการณ์ลานีญา ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในตอนนี้จึงทำให้ ในวันที่ 5 สิงหาคม2567 นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการ “ประชุมหารือบริหารจัดการน้ำ” ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อธิบดีกรมชลประทาน
และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) เข้าร่วมประชุม โดยนายกรัฐมนตรีจะกล่าวมอบนโยบายและข้อสั่งการ พร้อมด้วยการแถลงแนวทางการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลหลังจากที่สถานการณ์น้ำทั่วประเทศขณะนี้มีบางพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำสูง โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา เผยว่า ประเทศไทยเข้าสู่สภาวะ “ลานีญา” แล้ว ในช่วง เดือน ก.ค.- ก.ย.67 ต่อเนื่องไปจนถึง ธ.ค. 67 ถึง ก.พ. 68 ทำให้ครึ่งปีหลังมีฝนตกหนักเพิ่มขึ้นเล็กน้อย สำหรับฤดูหนาวปีนี้อุณหภูมิจะลดต่ำลงกว่าปีที่แล้ว สำหรับปรากฏการณ์ที่กลับกันกับเอลนีโญ กล่าวคือ อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณตอนกลางและตะวันออกของแปซิฟิกเขตศูนย์สูตรมีค่าต่ำกว่าปกติ เนื่องจากลมค้าตะวันออกเฉียงใต้มีกำลังแรงมากกว่าปกติ จึงพัดพาผิวน้ำทะเลที่อุ่นจากตะวันออกไปสะสมอยู่ทางตะวันตกมากยิ่งขึ้น
จากปรากฎการณ์ดังกล่าวจึงทำให้บริเวณดังกล่าวซึ่งเดิมมีอุณหภูมิผิวน้ำทะเลและระดับน้ำทะเลสูงกว่าทางตะวันออกอยู่แล้วยิ่งมีอุณหภูมิและระดับน้ำทะเลสูงขึ้นไปอีก ปรากฏการณ์ลานีญาเกิดขึ้นได้ทุก 2 – 3 ปี และปกติจะเกิดขึ้นนานประมาณ 9 – 12 เดือน แต่บางครั้งอาจปรากฏอยู่ได้นานถึง 2 ปี
อย่างไรก็ตามจากการศึกษาสภาวะฝนและอุณหภูมิของประเทศไทยในปีเอลนีโญ โดยใช้วิธีวิเคราะห์ค่า composite percentile ของปริมาณฝน และ composite standardized ของอุณหภูมิในปีเอลนีโญ จากข้อมูลปริมาณฝนและอุณหภูมิรายเดือน ในช่วงเวลา 50 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2494 ถึง 2543 พบว่า ในปีลานีญาปริมาณฝนของประเทศไทยส่วนใหญ่สูงกว่าปกติ โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อนและต้นฤดูฝนเป็นระยะที่ลานีญามีผลกระทบต่อสภาวะฝนของประเทศไทยชัดเจนกว่าช่วงอื่น และพบว่าในช่วงกลางและปลายฤดูฝนลานีญามีผลกระทบต่อสภาวะฝนของประเทศไทยไม่ชัดเจน
สำหรับอุณหภูมิปรากฏว่าลานีญามีผลกระทบต่ออุณหภูมิในประเทศไทยชัดเจนกว่าฝน โดยทุกภาคของประเทศไทยมีอุณหภูมิต่ำกว่าปกติทุกฤดู และพบว่าลานีญาที่มีขนาดปานกลางถึงรุนแรงส่งผลให้ปริมาณฝนของประเทศไทยสูงกว่าปกติมากขึ้น ขณะที่อุณหภูมิต่ำกว่าปกติมากขึ้น
ลานีญา ยังเสี่ยงต่อกระทบกับอุตสาหกรรมยางพาราไทย ถ้าฝนตกในปริมาณมาก อย่างเช่นบทเรียนเมื่อปี 2565 ภาคใต้ได้เกิดภาวะลานีญา ทำน้ำฝนมากกว่าปกติประมาณ 25 % โดยตั้งแต่เดือนกันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน จากฝนตกในพื้นที่ต่อเนื่องแทบทุกวัน ทำให้ชาวสวนไม่สามารถออกไปกรีดยางได้มาประมาณ 2 เดือนเต็มแถมน้ำยางยังเสี่ยงต่อการถูกน้ำฝนผสมลงไปอีกด้วยทำให้ไม่ได้คุณภาพ
สำหรับความเสี่ยงอื่นๆต่อภาคเกษตร คือ หากฝนตกนาน หรือน้ำขัง จะทำให้เกิดโรคพืชได้ง่าย เช่น รากเน่า พืชเศรษฐกิจล้มตาย ผลผลิตเสี่ยงหาย โดยเฉพาะหากน้ำท่วมจะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายจำนวนมาก ส่งผลทำให้ราคาสินค้าเกษตรพุ่งสูงขึ้นตามมา นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดความเสียหายให้กับบ้านเรือนของประชาชน
International Research Institute for Climate and Society (IRI) คาดการณ์ว่า มีความน่าจะเป็น 2% ที่จะเกิดปรากฏการณ์ลานีญาในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน และความน่าจะเป็นที่จะเกิดปรากฏการณ์ลานีญา จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 58% ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน
แน่นอนว่า "ลานีญา" เป็นปรากฏการณ์ที่ตรงข้ามกับ "เอลนีโญ" กล่าวคือ จะมีปริมาณฝนที่มากกว่าปีปกติ ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุทกภัย ซึ่งสามารถสร้างความเสียหายได้หลากหลายประเภทมากกว่าภัยแล้ง ขณะที่ผลผลิตทางการเกษตร จะได้รับผลกระทบตามปริมาณน้ำและความรุนแรงในการไหลผ่านพื้นที่ รวมถึงส่งผลต่อระดับราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้นจากปัญหาภาวะอุปทานขาดแคลน อาทิ ข้าวนาปี ที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเดือนพฤศจิกายนบางส่วนจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง ทำให้ผลผลิตเสียหาย และออกสู่ตลาดล่าช้าไปอย่างน้อย 1 เดือน
โดยแนวทางการรับมือต่ออุปสรรคของภาคเกษตรในปี 67 ของแต่ละภาคส่วนมีดังนี้
1. เกษตรกร
ควรประยุกต์ใช้ความรู้ด้านการเพาะปลูกสมัยใหม่ที่พึ่งพาการใช้ทรัพยากรน้ำน้อยกว่าเดิม เช่น การทำนาเปียกสลับแห้ง และปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตเพื่อลดต้นทุน เช่น การวิเคราะห์ดิน เพื่อวางแผนการใช้ปุ๋ยได้ตรงกับลักษณะดิน รวมทั้งช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในกระบวนการเพาะปลูก
ควรเสริมสร้างขีดความสามารถให้มีความรู้และทักษะใหม่ๆ ในการปรับตัวให้เข้ากับแนวโน้มของตลาดที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงทำความเข้าใจพลวัตของตลาดโลก เทคนิคการเกษตรใหม่ๆ มาตรฐานด้านคุณภาพสินค้าเกษตร และกฎระเบียบและมาตรการทางการค้าระหว่างประเทศ
2. ธุรกิจเกษตรแปรรูป
ควรให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการวัตถุดิบ เพื่อรับมือกับความผันผวนของต้นทุนสินค้าเกษตร เช่น การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับเกษตรกร จะช่วยลดแรงกดดันด้านต้นทุนในช่วงที่ราคาวัตถุดิบปรับเพิ่มขึ้นได้
ควรร่วมมือกับเกษตรกรในการประยุกต์ใช้ Climate Tech เพื่อช่วยบริหารจัดการฟาร์ม ติดตามข้อมูลสภาพอากาศและภัยธรรมชาติ และสร้างเครือข่ายการตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์
ควรศึกษาและติดตามกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากกฎระเบียบการค้า โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมมีการยกระดับอยู่เสมอ และมีแนวโน้มเข้มงวดขึ้น รวมถึงมีโอกาสขยายขอบเขตไปยังสินค้ากลุ่มอื่นๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคทางการค้าสำหรับผู้ส่งออกไทยที่ไม่สามารถปรับตัวได้
3. ภาครัฐ
วางแผนการจัดสรรน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ และควรให้ความสำคัญกับการลงทุนบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะการลงทุนเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่นอกเขตชลประทาน
พัฒนาเทคโนโลยีการพยากรณ์อากาศ และระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้เกษตรกรสามารถวางแผนการเพาะปลูก และเตรียมพร้อมรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้
นอกจากนี้ยังต้องส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ในการเผยแพร่ และพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทการเกษตรของประเทศไทยสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืช และปศุสัตว์ที่ทนแล้ง รวมทั้งสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มแปรปรวนมากขึ้น
ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ อีกทั้งยังช่วยลดการใช้น้ำในการเพาะปลูก ส่งผลให้การใช้น้ำในภาคเกษตรมีประสิทธิภาพมากขึ้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและระบบขนส่งสินค้าเกษตร เพื่อรองรับการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในพื้นที่เกษตรกรรมห่างไกลและในชนบทจังหวัดควรมีแนวทางด้าน BCG เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่แตกต่างกัน
ขณะที่ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 คาดการณ์ว่าไทยจะเผชิญกับ “ปรากฏการณ์ลานีญา” ซึ่งมีแนวโน้มสูงที่จะเกิดภาวะฝนตกหนักรุนแรง และเกิดความเสียหายต่อผลผลิต ทางการเกษตร ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการขาดแคลนวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง
โดย "พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผอ.สนค. กล่าวว่า ปรากฏการณ์ลานีญาที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่จะกระทบต่อสินค้าเกษตรแต่อาจกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อของไทย โดยสินค้าในตระกร้าเงินเฟ้อของไทยที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากลานีญา เป็นสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เป็นสำคัญ
โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เช่น ผักสด และผลไม้สด เนื่องจากเป็นสินค้าที่อ่อนไหวต่อสถานการณ์น้ำค่อนข้างมาก ซึ่งปริมาณน้ำฝนที่มากเกินไปจะกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูก เป็นอุปสรรคต่อการเก็บเกี่ยว และเกิดความเสียหายต่อผลผลิต นำไปสู่การสูงขึ้นของระดับราคาสินค้าจากปัญหาภาวะอุปทานขาดแคลน เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง สำหรับผักและผลไม้สดมีสัดส่วนในตะกร้าเงินเฟ้อของไทยประมาณ 5.83 %
"ปรากฏการณ์ลานีญา และผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนและความเสี่ยงที่จะเกิดปรากฏการณ์ลานีญาเป็นวัฏจักรตามธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในหมวดสินค้าที่เกี่ยวข้อง" นายพูนพงษ์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง