svasdssvasds

เป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ที่เราจะเจอ "น้ำท่วมโลก" ในศตวรรษนี้

เป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ที่เราจะเจอ "น้ำท่วมโลก" ในศตวรรษนี้

ปัญหาการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล เนื่องมาจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ ส่งผลให้หลายพื้นที่ทั่วโลกตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะจมอยู่ใต้ทะเล ถึงเวลาแล้วที่ควรร่วมมือช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อมเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก เพื่อให้ลูกหลานของเราได้เห็นธรรมชาติอันสวยงามต่อไป

SHORT CUT

  • ท่ามกลางภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิด"น้ำท่วม" บ่อยขึ้น ในช่วงไม่กี่ปียิ่งรุนแรงและสร้างความเสียหายหนักขึ้นกว่าเดิม
  • คาดว่าหลังปี 2100 ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นจะบังคับให้มนุษย์ต้องย้ายไปอยู่ที่สูงมากขึ้น ภายในปี 2150 จะเกิดพายุบ่อยขึ้น อาจจะมากเป็นสองเท่าของที่เกิดอยู่ในทุกวันนี้
  • หลังจากปี 2100 ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นในระดับ 1-2 เมตร ซึ่งจะสร้างความเสียหายเป็นบริเวณกว้างให้แก่พื้นที่ชายฝั่งทะเล

ปัญหาการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล เนื่องมาจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ ส่งผลให้หลายพื้นที่ทั่วโลกตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะจมอยู่ใต้ทะเล ถึงเวลาแล้วที่ควรร่วมมือช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อมเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก เพื่อให้ลูกหลานของเราได้เห็นธรรมชาติอันสวยงามต่อไป

ท่ามกลางภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และปัญหาสิ่งแวดล้อม เราพบเจอ "น้ำท่วม" บ่อยขึ้น และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยิ่งรุนแรงและสร้างความเสียหายหนักขึ้นกว่าเดิม ในคัมภีร์ไบเบิลของศาสนาคริสต์ มีการพูดถึงตำนานน้ำท่วมโลกกับเรือโนอาห์ แต่ในความเป็นจริง นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า เราไม่น่าจะเจอน้ำท่วมโลกแบบนั้น แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่เราจะเจอกับน้ำท่วมตามพื้นที่ต่างๆ รุนแรงขึ้น โดยจุดที่อันตรายก็คือ ชายฝั่งด้านตะวันออกของสหรัฐฯ หมู่เกาะต่างๆ และภูมิภาคเอเชีย

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราพบเห็นปัญหาชายฝั่งทะเลถูกกัดเซาะ จากน้ำแข็งขั้วโลกละลาย อีกทั้งยังมีปัญหาพายุพัดถล่ม ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมและน้ำเอ่อล้นตลิ่งตามแม่น้ำสายต่างๆ เว็บไซต์ของนาซา หน่วยงานด้านอวกาศของสหรัฐฯออกมาระบุถึงพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจมอยู่ใต้น้ำในช่วงศตวรรษที่กำลังจะมาถึง โดยชี้ว่า จุดที่อันตรายก็คือ ชายฝั่งด้านตะวันออกของสหรัฐฯและอ่าวเม็กซิโก หมู่เกาะต่างๆ และเอเชีย

ความเสี่ยงเหล่านั้นไม่ได้มาจากระดับน้ำท่วมเพิ่มขึ้นเพราะน้ำแข็งละลายเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดจากปัญหาน้ำทะเลที่อุ่นขึ้น ทำให้เกิดพายุบ่อยขึ้น และปัญหาน้ำท่วมจากน้ำทะเลหนุนสูง

โดยคาดว่า หลังปี 2100 เป็นต้นไป ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นจะบังคับให้มนุษย์ต้องย้ายไปอยู่ที่สูงมากขึ้น และภายในปี 2150 โลกจะเกิดพายุบ่อยขึ้น อาจจะมากเป็นสองเท่าของที่เกิดอยู่ในทุกวันนี้ และหลังจากปี 2100 ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นในระดับ 1-2 เมตร ซึ่งจะสร้างความเสียหายเป็นบริเวณกว้างให้แก่พื้นที่ชายฝั่งทะเล ในช่วงแรก การใช้กลยุทธ์ต่างๆอาจจะช่วยได้ เช่น การสร้างกำแพงกั้นน้ำทะเล แต่ในท้ายที่สุด ปัญหาจะเลวร้ายลง เนื่องจากผลกระทบที่มีต่อมนุษย์จะเพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายในการรับมือจะสูงมาก

กรุงเทพเสี่ยงจมน้ำ พิจารณาย้ายเมืองหลวง 

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าว AFP สื่อต่างประเทศ ได้ตีข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ ในอนาคต โดยปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลไทย ได้กล่าวกับสำนักข่าว AFP ถึงกรณีการย้ายเมืองหลวงหนีน้ำเอาไว้ดังนี้

กรุงเทพฯ อาจไม่สามารถปรับตัวเข้ากับโลกที่ร้อนขึ้นในปัจจุบันได้ ผมคิดว่าอุณหภูมิเฉลี่ยโลกของเราเกิน 1.5 องศาฯ ไปแล้ว ตอนนี้เราต้องกลับมาคิดถึงการปรับตัว ผมคิดว่ากรุงเทพฯ จะจมน้ำแน่นอน ถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้อยู่

จากเครื่องมือคาดการณ์ระดับน้ำทะเลของนาซาชี้ว่า ป้อมพระจุล จะมีระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 1.79 เมตรในปี 2100

เมืองดังเมืองใหญ่ระดับโลกเสี่ยงไม่แพ้กรุงเทพฯ 

ก่อนหน้านี้มีผลการศึกษาชิ้นหนึ่ง ซึ่งนักวิจัยได้ใช้เครื่องมือขององค์กร Climate Central ที่ชื่อว่า Coastal Risk Screening Tool ลิสต์เมืองท่องเที่ยวเสี่ยงจมน้ำ หากน้ำทะเลสูงขึ้น 1.5 เมตร มาให้ดู โดยพบว่า นอกจากกรุงเทพฯแล้ว ยังมีอีกหลายเมืองในเอเชียที่เสี่ยงจมน้ำเช่นกัน เช่น กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นครมุมไบ ประเทศอินเดีย นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี กรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ และกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น

ขณะที่อินโดนีเซียเตรียมย้ายเมืองหลวงแล้ว โดยประเทศอินโดนีเซียจะเปิดตัว “นูซันตารา” เป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ในฐานะศูนย์กลางทางการเมืองในวันที่ 17 สิงหาคมปีนี้ แทนที่เมืองหลวงปัจจุบันอย่าง “กรุงจากาตาร์” ซึ่งตกอยู่ในสภาพไม่ต่างจากกรุงเทพฯ นั่นคือเฟื่องไปด้วยมลพิษและกำลังจมน้ำ

 

ในปี 2565 อินโดนีเซียได้ผ่านร่างกฎหมาย เพื่อเปิดทางย้ายเมืองหลวง อินโดฯ ถือเป็นชาติแรกในแถบภูมิภาคนี้ที่มีการสั่งย้ายเมืองหลวงผ่านกฎหมายของประเทศแต่ก็ไม่วายโดนครหาว่าไม่ศึกษาภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อมให้ดี ไม่รู้หรือไงว่าต้องมีการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งทำให้เจ้าอุรังอุตังอาจไม่มีที่อยู่อาศัยอีกต่อไป

หลายรัฐในสหรัฐฯ เสี่ยงจมบาดาล

ส่วนที่สหรัฐฯ มีรายงานว่า พื้นที่ชายฝั่งของรัฐหลุยเซียนาเสี่ยงต่อการจมบาดาล เนื่องจากพื้นที่แถบดังกล่าวสร้างขึ้นจากการทับถมของตะกอนเมื่อราว 5,000 ปีก่อน และปัจจุบัน พื้นดินของรัฐดังกล่าวก็เริ่มจมลง 1 นิ้วทุกๆ 3 ปี นอกจากนี้ ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่รวดเร็ว ก็ทำให้หลุยเซียนาสูญเสียที่ดินราว 65-91ตารางกิโลเมตรทุกปีในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา
ชายฝั่งอ่าวเม็กซิโก ซึ่งเป็นบริเวณที่รัฐหลุยเซียนาตั้งอยู่ กำลังประสบปัญหาการถูกกัดเซาะชายฝั่งที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ผลการศึกษายังชี้ด้วยว่า การทำเหมืองเรือขุดในคลองต่างๆ โดยอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา มีผลทำให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำและทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ดังกล่าวตามมา

นอกจากนี้ ระหว่างปี 2550-2563 พื้นดินบริเวณ New York, Baltimore และ Norfolk ในรัฐ Virginia จมลงระหว่าง 1-2 มิลลิเมตรต่อปี สถานที่อื่นๆ จมลง 2 เท่าหรือ 3 เท่าของอัตรานั้น และเมืองชาร์ลสตัน รัฐเซาท์แคโรไลนา จมเร็วที่สุดที่ 4 มิลลิเมตรต่อปี ในเมืองหนึ่งเหนือระดับน้ำทะเลไม่เกิน 3 เมตร โดยการทรุดตัวบางส่วนเป็นผลมาจากการสูบน้ำบาดาลออกไปเพื่อเป็นแหล่งน้ำหรือก๊าซธรรมชาติ แต่นิวยอร์กและเมืองอื่นๆ กำลังจมอยู่ใต้น้ำหนักที่แท้จริงของอาคารที่กดทับลงสู่ดินอ่อน

ที่มา : nasa 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

related