SHORT CUT
สภาพอากาศโลกที่แปรปรวน เปลี่ยนไปมา ส่งผลกระทบต่อร่างกายของมนุษย์ งานวิจัยล่าสุดชี้ชัดว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เชื่อมโยงกับโรคทางสมอง ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือด ไมเกรน หรืออัลไซเมอร์ และอื่นๆอีกมาก
ผลการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet Neurology พบว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือ Climate change มีส่วนเชื่อมโยงทำให้สภาพสมองของมนุษย์เลวร้ายลง
โดยเป็นผลมาจากอุณหภูมิโลกและความชื้นเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาโรคหลอดเลือด ไมเกรน เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ลมชัก โรคเอ็มเอส หรือโรคที่เกิดจากการอักเสบของปลอดประสาทในระบบประสาทส่วนกลาง โรคจิตเภท อัลไซเมอร์ และพาร์กินสัน
สมองของมนุษย์เรามีส่วนสำคัญในการจัดการความท้าทายด้านสภาพแวดล้อมที่เราเผชิญอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออากาศร้อนและมีความชื้นสูง ยกตัวอย่างเช่น ทำให้เหงื่อไหล เพื่อเป็นการบอกให้เราออกไปให้พ้นจากอากาศร้อนและเข้าหาร่มเงาแทน
ขณะที่แต่ละเซลล์ประสาทที่มีอยู่หลายพันล้านเซลล์ในสมองของเรา จะทำงานภายใต้อัตราที่ต่างกันขึ้นอยู่กับอุณหภูมิแวดล้อม ขณะที่ร่างกายของเรา และอวัยวะทั้งหมด จะทำงานร่วมกันภายใต้ข้อจำกัดด้านอุณหภูมิ นั่นเป็นสิ่งที่มนุษย์เรามีวิวัฒนาการปรับตัวมานานนับพันปี
รายงานระบุว่า มนุษย์ที่มีวิวัฒนาการในแอฟริกา จะมีความรู้สึกสบายกับอุณหภูมิระหว่าง 20-28 องศาเซลเซียส และความชื้น 20-80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนประกอบส่วนใหญ่ของสมองจะทำงานได้ดีในช่วงอุณหภูมิเหล่านั้น
เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป อย่างอุณหภูมิร้อนขึ้น และความชื้นเพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ สมองของมนุษย์เราก็อาจจะลำบากที่จะควบคุมอุณหภูมิ และเริ่มมีความผิดปกติ
โรคบางโรคก็สามารถรบกวนระบบเหงื่อได้ ซึ่งเหงื่อมีความสำคัญต่อการรักษาความเย็นของร่างกาย หรือเป็นเครื่องหมายที่เตือนให้เรารู้ว่า มันร้อนเกินไปแล้ว ขณะที่ยาบางตัวที่ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับระบบประสาทและโรคจิตเวช ก็อาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ลดเหงื่อ หรือส่งผลต่อกลไกการปรับอุณหภูมิในสมอง
คลื่นความร้อนยังรบกวนการนอนหลับ และอาจจะทำให้เกิดปัญหาโรคลมชักเลวร้ายลงด้วย นอกจากนี้ คลื่นความร้อนยังทำให้คนที่มีปัญหาโรคเอ็มเอส และโรคหลอดเลือดแย่ลงได้ด้วย
ผลการศึกษาชี้ชี้ว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจะส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมากที่มีโรคทางสมอง และพบว่า เมื่ออากาศร้อนขึ้น ก็มักจะมีคนเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเพราะโรคสมองเสื่อมมากกว่าปกติด้วย
ที่มา: medicalxpress
ข่าวที่เกี่ยวข้อง