SHORT CUT
ชาวสวนไม่สามารถออกไปกรีดยางได้ถ้าฝนตกชุก แถมน้ำยางยังเสี่ยงต่อการถูกน้ำฝนผสมลงไปอีกด้วยทำให้ไม่ได้คุณภาพ
ภาคเกษตรไทยมีระทึก จากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจาก..เอลนีโญ กระโดดมาสู่ ‘ลานีญา’ เกษตรกรต้องเตรียมรับมือกันให้ดี!
ช่วงนี้ฝนตกบ่อยขึ้นในหลายพื้นที่ เชื่อว่าทำให้ต้นไม้ใบหญ้าได้พอฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้บ้าง หลังจากก่อนหน้านี้ถูกเอลนีโญเล่นงานไปแทบไม่มีชิ้นดี ประกอบกับโลกร้อนทำให้อากาศร้อนอบอ้าวทำให้พืชผลทางการเกษตรหลายพื้นที่ต้องยืนต้นตาย โดยเฉพาะสวนทุเรียนได้รับผลกระทบจำนวนมาก แต่..ล่าสุดเอลนีโญ กําลังอ่อนลง ‘ลานีญา’ กำลังเข้ามาเยือนประเทศไทย โดย กรมอุตุนิยมวิทยา เผยข้อมูลสถานการณ์เอลนีโญ ว่า ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในสภาวะเอลนีโญกําลังอ่อน ทำให้ประเทศไทยมีแนวโน้มอุณหภูมิสูงกว่าปกติ ในขณะที่ปริมาณฝนใกล้เคียงค่าปกติ
ทั้งนี้คาดว่าปรากฏการณ์เอนโซที่อยู่ในสภาวะเอลนีโญกําลังอ่อนนี้จะอ่อนลงและเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเป็นกลางในช่วงเดือนเม.ย. ถึง มิ.ย.2567 จากนั้นมีความน่าจะเป็นร้อยละ 60 ที่จะเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือน มิ.ย.ถึง ส.ค. 2567
โดยก่อนหน้านี้เอลนีโญ อากาศร้อนจัด สร้างผลกระทบมหาศาลต่อวงการผลไม้ไทย #สปริงนิวส์ สอบถามข้อมูลจาก “กอบกุล ต๊ะปะแสง” ชาวสวนผลไม้ใน จ.จันทบุรี เปิดเผยว่า อากาศที่ร้อนจัดจากปัญหาโลกร้อนได้ส่งผลกระทบให้ผลไม้ยืนต้นตายเนื่องจากอากาศร้อนจัด ทำให้ทุเรียนลูกเล็ก ทุเรียนยืนต้นตายไปหลายสิบต้น มังคุดเหี่ยวแห้ง น้ำในสระ ในคลองแห้งไม่พอต่อเกษตรกร ทำให้ไม่มีน้ำรดต้นทุเรียนมังคุด อีกทั้งน้ำกินน้ำใช้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ
เรียกได้ว่าเอลนีโญได้สร้างความเสียหายให้สวนผลไม้จำนวนมาก และกำลังก้าวมาสู่ลานีญาทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าโลกของเรากำลังปั่นป่วนเป็นอย่างมาก ลานีญาอาจทำให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรต้องเผชิญความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นอกจากนี้ลานีญา ยังเสี่ยงต่อกระทบกับอุตสาหกรรมยางพาราไทย ถ้าฝนตกในปริมาณมาก อย่างเช่นบทเรียนเมื่อปี 2565 ภาคใต้ได้เกิดภาวะลานีญา ทำน้ำฝนมากกว่าปกติประมาณ 25 % โดยตั้งแต่เดือนกันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน จากฝนตกในพื้นที่ต่อเนื่องแทบทุกวัน ทำให้ชาวสวนไม่สามารถออกไปกรีดยางได้มาประมาณ 2 เดือนเต็มแถมน้ำยางยังเสี่ยงต่อการถูกน้ำฝนผสมลงไปอีกด้วยทำให้ไม่ได้คุณภาพ
ลานีญา กำลังเข้ามาภาคธุรกิจ และภาคการเกษตรต้องเตรียมรับมือ เพราะหากเจอน้ำในปริมาณที่มากจะส่งผลกระทบทำให้พืชตายได้เช่นกัน !
ข่าวที่เกี่ยวข้อง