ในงานเปิดตัวสำนักข่าว Climate Center ของ ฐานเศรษฐกิจ ภายใต้สโลแกน "ปลุก ปรับ เปลี่ยน โลกยั่งยืน" พร้อมทั้งยังมีการลงนามความร่วมมือ MOU ร่วมกับ “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ภายในงานมีการเสวนา หัวข้อ Climate Challenges ซึ่งนายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ได้ขึ้นกล่าวเสวนาในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ภาครัฐ จุดเปลี่ยนรับมือ Climate Change”
นายปวิช เกศววงศ์ ชี้ให้เห็นว่า หลังจากที่โลกเปลี่ยนผ่านจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเข้าสู่โลกสมัยใหม่ สภาพอากาศโลกเกิดความแปรปรวนอย่างหนัก ซึ่งส่งผลกระทบหลากหลายด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ สุขอนามัย หรือแม้กระทั่งสัตว์โลก
นำมาสู่ขั้นถัดมาคือ ทุกประเทศจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อหาวิธีลดหรือบรรเทาต้นตอที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ซึ่งแต่ละประเทศต่างมีขีดจำกัดของตัวเอง ทั้งในแง่ของเงินทุน หรือเศรษฐกิจ
สำหรับประเทศไทย นายปวิช เกศววงศ์ เผยว่า สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ “ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการดำเนินธุรกิจของเราให้ได้มากที่สุด ก่อนที่เราจะไปซื้อคาร์บอนเครดิตจากที่อื่น เป็นสิ่งที่ทางภาครัฐเน้นย้ำ”
ทั้งนี้ ไทยตั้งเป้าไว้ว่าต้องเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 โดยมีอาวุธเด็ดคือแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (พ.ศ. 2558 – 2579) ประกอบไปด้วย 3 ส่วน ได้แก่ การปรับตัวต่อผลกระทบ Climate Change, การลดก๊าซเรือนกระจก, ส่งเสริมงานวิจัย หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ
“เราในฐานะที่เป็นประชากร อยู่ในโลกใบเดียวกันของทั่วโลก เราต้องทำในสิ่งที่เราต้องทำ เราต้องมีแผนปฎิบัติการลดก๊าซเรือนกระจก ทั้งในส่วนภาคเกษตร ภาคพลังงาน ภาคการขนส่ง ขยะ ของเสีย และภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่สูง ทำอย่างไรเราถึงจะลดได้" นายปวิช เกศววงศ์ กล่าว
นายปวิช กล่าวเสริมว่า นอกจากเราทำเองแล้วศักยภาพของเราก็บอกว่าเราจะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ต่ำที่สุด ขีดความสามารถเราก็มีเท่านี้ ต่างชาติเข้ามาช่วยได้หรือไม่ อาทิ เรื่องนาเปียกสลับแห้ง หรือการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงาน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะมาช่วยเหลือสนับสนุนทางด้านการเงิน และเรื่ององค์ความรู้ การแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตที่จะเกิดขึ้นในอนาคตระหว่างประเทศต่อประเทศ
นายปวิช เผยในช่วงท้ายของการสัมมนาว่า จะมีการพิจารณาเรื่องแผนการปรับตัวเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการประชุมครม. (26 มี.ค. 67) และเมื่อได้รับการอนุมัติเมื่อไร หน่วยงานต่าง ๆ จะสามารถดึงแผนนี้ไปปรับใช้ได้ตามความเหมาะสม
กรมฯในฐานะที่เป็นผู้ดูแล กำกับ และในอนาคต หากมีกฎหมายฯ หรือร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. ..... ก็อยากจะเน้นย้ำนโยบายของกรมชัดเจน โดยภาครัฐมีหน้าที่ต้องทำ พูด เตือน ส่วนภาคเอกชนก็มีหน้าที่จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจ
“นายปวิช เกศววงศ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า Climate Change ไม่ใช่เทรนด์ แต่เป็นวาระโลก ทุกคนไม่ทำไม่ได้ เพราะถ้าไม่ทำก็โดนกีดกันทางการค้าโดยปริยาย เพราะเรื่องการค้ากับสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องความยั่งยืน ต้องตระหนัก ตนเชื่อมั่นว่าการมุ่งไปสู่ความยั่งยืน ภาคเอกชนมีความก้าวหน้า ในขณะที่กรมเองก็มีความร่วมมือกับต่างประเทศก็สามารถที่จะไปหาเงินสนับสนุนมาได้ ไม่เฉพาะภาคเอกชนอย่างเดียว สามารถให้ภาคอื่น ๆ ด้วย ให้นำเงินเหล่านี้ไปพัฒนาองค์กรของตัวเอง รวมทั้งปัจจุบันมีหลายธนาคารให้กู้ด้วย รวมทั้งกฎหมาย ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. ..... (กำลังรับฟังความคิดเห็น) ที่จะครอบคลุมด้วย”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง