Aquaman 2 เมื่อมนุษย์กำลังทำให้โลกร้อนขึ้น เดือดร้อนถึงชาวแอตแลนติส งั้น เป็นไปได้หรือไม่ ที่ตำนานมหานครแอตแลนติสของเพลโต จมลงสู่ก้นมหาสมุทรเพราะภาวะโลกร้อน?
อาณาจักรแอตแลนติสมีอยู่จริงไหมไม่มีใครรู้ได้ แต่เรื่องราวของแอตแลนติสอาจเป็นเหมือนเข็มนาฬิกาข้ามเวลาที่สามารถพยากรณ์อนาคตได้ รึเปล่า?
ภาพยนตร์อควาแมน 2 ได้ฉายเรื่องราวของการปกป้องมหาสมุทรจากวายร้ายที่พยายามเผาสารเคมีชนิดหนึ่ง ซึ่งส่งผลกระทบให้อุณหภูมิของโลกและมหาสมุทรเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงมีการพูดถึงเรื่องมลพิษที่มนุษย์กระทำต่อมหาสมุทร อันเป็นเรื่องที่ชาวแอตแลนติสไม่สามารถยอมรับได้ แต่สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งสำหรับผู้เขียนคือ อาณาจักรแอตแลนติสอาจหายไปเพราะโลกร้อนรึเปล่านะ?
นครแอตแลนติส เป็นเรื่องเล่าของนักปราชญ์ชาวกรีกโบราณนามว่า เพลโต (Plato) ที่ถูกเขียนขึ้นเมื่อประมาณ 360 ปีก่อนคริสตกาล (9,000-10,000 ปีหลังแอตแลนติสล่มสลาย) เพลโตเล่าเรื่องของมหานครแอตแลนติสที่ยิ่งใหญ่ เมืองเทพสร้างที่ตั้งอยู่ใจกลางมหาสมุทรแอตแลนติก เมืองอารยธรรมล้ำเลิศที่มีการศึกษาดีที่สุด เทคโนโลยีก้าวหน้ามากที่สุด รุ่มรวยเงินทองและทรัพยากรล้ำค่ามากที่สุด และเป็นเมืองที่คุณธรรมสูงสุดเท่าที่มนุษย์จะมีได้
ส่วนสาเหตุการล่มสลายของแอตแลนติสนั้นยังคงเป็นปริศนา กว่าหลายศตวรรษที่ผู้เชี่ยวชาญพยายามหาคำตอบให้กับคำถามนี้ แต่ก็ทำได้เพียงแค่คาดการณ์ บ้างก็ว่าเมืองถูกลงโทษโดยเหล่าทวยเทพ เนื่องจากผู้คนมีการทุจริต มีศีลธรรมเสื่อมถอย แก่งแย่งชิงดี ละโมบโลภมาก และหลงไปจากประสงค์ของเทพ
บ้างก็ว่ามีการทำสงครามกันภายในจนทำลายตนเอง บ้างก็ว่าถูกสามเหลี่ยมเบอร์มิวดากลืนกิน บ้างก็ว่าถูกอุกกาบาตตกใส่ บ้างก็ว่าที่จริงแอตแลนติสไม่ได้หายไปไหน แต่คือแอตแลนติกในปัจจุบันนั่นเอง หรืออาจเป็นไปได้มากที่สุด ก็คือ ภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ได้อุบัติขึ้น
หากย้อนกลับไปในเวลาไล่เลี่ยกัน รายงานโบราณคดีเผยว่า เมื่อประมาณ 8,500 ปีที่แล้ว ช่วงเวลาหลังโลกเข้าสู่การสิ้นสุดยุคน้ำแข็ง สภาพอากาศโลกอุ่นขึ้นมาก จนทำให้น้ำแข็งที่แช่แข็งมาจากยุคน้ำแข็งเริ่มละลาย และก็ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มระดับเรื่อยมา
จากการศึกษาเมืองโบราณแอตแลนติสมานานหลายปีของศาสตราจารย์ Vincent Gaffney นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัย Bradford ในสหราชอาณาจักร เขาเล่าว่า เมืองแอตแลนติสได้สูญหายไปอยู่ด้านล่างของทะเล Doggerland พื้นที่ทอดยาวจากชายฝั่งตะวันออกของอังกฤษ สกอตแลนด์ ไปจนถึงเดนมาร์ก สถานที่ที่เป็นไปได้อีกหนึ่งแห่งของแอตแลนติสตามคำบอกเล่าของเพลโต
ไม่เพียงแค่ศาตราจารย์วินเซนต์ นักโบราณคดีมากมายต่างพูดถึงเมือง Doggerland หลังมีการค้นพบวัตถุโบราณและร่องรอยอารยธรรมของกลุ่มคนขนาดใหญ่เมื่อหลายพันปีก่อน เช่น มูลหมาไนที่กลายเป็นหิน ฟันกรามของแมมมอธ ไปจนถึงชิ้นส่วนของกะโหลกศีรษะมนุษย์ หัวลูกศรธนูโบราณ อุปกรณ์ประมง และฟอสซิลต่าง ๆ
จากการศึกษาตะกอนและหลักฐานย้อนกลับ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า ด้วยความล้ำหน้าของอารยธรรมแอตแลนติส ส่งผลให้มีกิจกรรมมากมาย เช่น การทำการเกษตร การก่อสร้าง การผลิต ซึ่งกิจกรรมเหล่านั้น ทำให้อุณหภูมิของโลกอุ่นขึ้น (แม้จะเทียบไม่ได้กับปัจจุบันที่มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นมหาศาลจากกิจกรรมมนุษย์)
เมื่อโลกอุ่นขึ้น ระดับน้ำก็เพิ่มสูงขึ้น บีบคั้นให้น้ำจืดลดลง การเกษตรทำได้ยาก ผลักคนเข้าสู่แผ่นดินอื่น และแอตแลนติสเองก็เป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนที่ราบใหญ่ที่ต่ำที่สุดของโลก ทำให้ในเวลาเพียงหนึ่งปีหรืออาจมากกว่านั้น ที่ราบแห่งแอตแลนติสก็หายสาบสูญไปอยู่ใต้น้ำของ Doggerland (บางก็ว่า แอตแลนติสใช้เวลาจมลงสู่ก้นมหาสมุทรประมาณ 6200-5500 ปีก่อนคริสตกาล)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไขข้อสงสัย "แอตแลนติส" อาณาจักรโบราณใต้ทะเลลึก มีจริงหรือแค่อิงนิทาน?
เปิด 5 แหล่งท่องเที่ยว ที่อาจหายไปตลอดกาล หากปัญหาโลกร้อนไม่ได้รับการแก้ไข
แม้ว่าปริศนาที่ว่า แอตแลนติสมีอยู่จริงไหม ยังเป็นเรื่องที่มนุษย์ยังไม่สามารถหาคำตอบที่แท้จริงได้ แต่สิ่งที่แอตแลนติสเผชิญ เช่น การจมลงสู่ก้นมหาสมุทร กำลังเกิดขึ้นจริงบนโลกใบนี้ และแอตแลนติสเองอาจเป็นเมืองแรกของโลกที่เผชิญกับวิกฤตโลกร้อนก็เป็นไปได้
หากมองดูภาพในปัจจุบัน สภาพของโลกก็ไม่ต่างอะไรกับแอตแลนติสที่เผชิญระดับน้ำเพิ่มสูงเหมือนเมื่อหลายพันปีก่อน
โดยในปีค.ศ. 2022-2023 ถูกฟันธงว่าเป็นปีที่โลกร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา และผลจากการวัดระดับน้ำทะเลทุกวันทุกเวลาของนักวิทยาศาสตร์ก็บ่งชี้ว่า น้ำแข็งขั้วโลกที่กำลังละลายมากขึ้น กำลังทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อเกาะและประเทศชายฝั่งเสี่ยงจมน้ำ
เรื่องนี้ผู้คนที่อยู่บนเกาะที่ราบต่ำน่าจะทราบเป็นอย่างดี เช่น คิริบาส หมู่เกาะมาร์แชล ตูวาลู โซโลมอน ในมหาสมุทรแปซิฟิก และมัลดีฟส์ในมหาสมุทรอินเดีย เป็นต้น ที่ออกมาเรียกร้องบนเวทีโลกถึงการปกป้องบ้านเกิด ในขณะที่ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นกำลังกลืนกินบ้านของเขา พวกเขาเบื่อเต็มทีแล้วที่จะต้องย้ายถิ่นฐาน
อุณหภูมิของโลกพุ่งสูงขึ้นเหมือนจรวดหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่มาจากประเทศที่พัฒนาแล้ว มีการเจริญเติบโตของเมือง จำนวนประชากร การศึกษาและเศรษฐกิจ ควบคู่กันไปกับการเผาผลาญทรัพยากรและเชื้อเพลิงฟอสซิล
ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงนี้ส่งผลให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้น และผู้ที่ต้องรับผลลัพธ์สุดแสนอันตรายมากที่สุดคือประเทศที่มีทรัพยากรน้อยที่สุด เช่น หมู่เกาะที่รายล้อมไปด้วยมหาสมุทร ที่กำลังขาดแคลนอาหารและน้ำจืดรุนแรง
ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นกับเกาะต่าง ๆ โชคดีกว่าแอตแลนติสของเพลโต ตรงที่เราสามารถคาดการณ์อนาคตได้ง่ายกว่า เราสามารถวางแผนป้องกันภัยล่วงหน้าได้ และเกาะต่าง ๆ ไม่มีวันหายไปในวันเดียวหรือหนึ่งปีเหมือนที่เพลโตเล่า
แต่สิ่งที่เหมือนกันคือความชะล่าใจ ที่ยังคงส่งต่อมาจากแอตแลนติสถึงมนุษย์ศตวรรษที่ 21 ที่แม้เรารู้อยู่แก่ใจ แต่ใช่ตื่นตกใจไม่ ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร เพียงแค่ปัจจุบันฉันสุขสบายก็เพียงพอแล้ว หรือเพราะมันไม่ใช่เรื่องใกล้ตัวของฉัน คุณล่ะ คิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้?
ที่มาข้อมูล
Horizon The EU Research & Innovation Magazine
ข่าวที่เกี่ยวข้อง