โลกจะเป็นอย่างไร หากเรามีพาสปอร์ตคาร์บอน (Carbon Passport) ที่เป็นเครื่องกำหนดโควตาการเดินทางบนน่านฟ้าของเรา ว่าเกินกว่าปริมาณการปล่อยคาร์บอนฯ ที่กำหนดหรือไม่ บริษัท Intrepid Travel คาดเริ่มใช้จริงปี 2583
ในช่วงฤดูร้อนของปีนี้ ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญอย่างมากสำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว มีการรายงานว่า จำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงก่อนที่โลกจะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ราว 84%
จึงถือเป็นข่าวดีสำหรับนักท่องเที่ยว ที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวฟื้นตัวอีกครั้งแบบเต็มรูปแบบ แต่ข่าวร้ายที่ตามมาก็คือสิ่งแวดล้อมในทุก ๆ มิติเตรียมรับผลกระทบจากไฟลท์บินที่เพิ่มมากขึ้น
จำนวนไฟลท์บินของทั้งโลก ณ ขณะนี้คือ 34.4 ล้านไฟลท์ (อัพเดต 2 พ.ย. 66) มากกว่าไฟลท์บินของปี 2022 (ทั้งปี) ซึ่งมี 27.7 ล้านไฟลท์
ณ ปัจจุบัน เราคงปฏิเสธไม่ได้แล้วว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคือส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ ปัจจุบัน มีการรณรงค์กันแล้วว่า มนุษย์จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวเสียใหม่ หากต้องการจะซ่อมแซมธรรมชาติของโลกใบนี้ที่กำลังร่อยหรอลงไปเรื่อย ๆ
นั่นจึงทำให้บริษัททัวร์แบบยั่งยืนอย่าง Intrepid Travel ได้เสนอไอเดียว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวควรหันมาใช้ พาสปอร์ตคาร์บอน หรือ Carbon Passport เพื่อช่วยลดผลกระทบในแง่ลบที่โลกได้รับจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
พาสปอร์ตคาร์บอนฯ (Carbon Passport) คืออะไร?
คู่มือการใช้งานพาสปอร์ตคาร์บอนเล่มนี้มีหลักการง่าย ๆ คือ ในแต่ละเล่มฟาสปอร์ตจะมีจำนวนคาร์บอนฯ ต่อปีกำหนดเอาไว้สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวของแต่ละบุคคล
ฟังดูแล้ว หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นแนวคิดที่สุดโต่งเกินไปหรือไม่? แต่ต้องเรียนแบบนี้ว่า แนวคิดเรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ในระดับบุคคล ไม่ใช่เรื่องใหม่ของโลกแต่อย่างใด เพราะก่อนหน้านี้เราเคยมีแนวคิดเรื่อง การซื้อขายคาร์บอนฯ ส่วนบุคคล (Personal Carbon Trading) มาแล้ว
แต่การซื้อขายคาร์บอนฯ ส่วนบุคคล ตกเป็นประเด็นถกเถียงในสังคม และได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากเมื่อปี 2008 จนกระทั่ง ต้องล้มเลิกแนวคิดนี้ไป เพราะดูเหมือนสาธารณชนจะไม่เห็นด้วย และออกมาต่อต้านแนวคิดนี้ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและยุ่งยากต่อชีวิตจนเกินไป
ทั้งนี้ทั้งนั้น ค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์เฉลี่ยของรายบุคคลสำหรับชาวอเมริกันจะเฉลี่ยอยู่ที่ 16 ตันต่อปี ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่สูงเป็นอับดับต้น ๆ ของโลก สหราชอาณาจักรก็ไม่น้อยหน้า โดยมีค่าคาร์บอนฟุตฟริ้นท์ในระดับบุคคลเฉลี่ยอยู่ที่11.7 ตัน ในขณะที่ประไทย มีอัตราคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในรายบุคคลอยู่ที่ 3.84 ตันต่อปี
เฉลี่ยแล้ว ประชากรทั้งโลกซึ่งมีอยู่ราว 8.1 พันล้านคน มีค่าเฉลี่ยของคาร์บอนฟุตพริ้นท์อยู่ที่ 4 ตัน แต่หากเราทุกคนต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายของความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งกำหนดไว้ว่าจะไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มเกิน 1.5°c เราต้องช่วยกันลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ให้ลดเหลือที่ 2 ตันภายในปี 2593
ทางบริษัททัวร์แบบยั่งยืนอย่าง Intrepid Travel ได้คาดการณ์เอาไว้ว่าเราน่าจะได้ใช้พาสปอร์ตคาร์บอนภายในปี 2583 พร้อมอธิบายเพิ่มอีกว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา หลาย ๆ ประเทศได้มีการคลอดกฎหมายและข้อจำกัดเกี่ยวกับการเดินทางหลากหลายประการ สิ่งนี้ทำให้เห็นถึงแนวโน้มว่า พฤติกรรมการเดินทางของมนุษย์อาจจะใกล้เปลี่ยนไปแล้ว
หรือควรใช้ไม้แข็ง?
ช่วงระหว่างปี 2013 ถึง 2018 ปริมาณคาร์บอนฯ ที่ถูกปล่อยออกจากเครื่องบินพาณิชย์ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 32% และแม้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะพยายามด้วยวิธีใด ก็จะไม่ช่วยจำนวนการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ มากเท่าที่ควร ดังนั้นจึงมีการเสนอว่า ให้สายการบินเพิ่มราคาตั๋วเพิ่มขึ้น 1.4% ทุก ๆ ปี เพื่อให้คนที่ต้องการบินคิดให้รอบคอบมากยิ่งขึ้น
ช่วงตั้งแต่ 1 เมษายน 2023 ที่ผ่านมา ในบางประเทศได้มีมาตรการลดไฟลท์บินลงเช่น เบลเยียม ที่ประกาศว่าเที่ยวบินระยะสั้น และเครื่องบินรุ่นเก่าจำเป็นต้องเสียภาษีเพิ่มเพื่อนำไปสนับสนุนการเดินทางในรูปแบบอื่น ๆ
ถัดมาอีก 2 เดือน ประเทศอื่น ๆ ในยุโรปก็เริ่มทำตาม ๆ กันเช่น ฝรั่งเศสที่ได้มีการสั่งห้ามเที่ยวบินระยะสั้นในประเทศ ทำให้ทีมฟุตบอลชื่อดังอย่าง Paris Saint Germain จำเป็นต้องเดินทางไปเตะในการแข่งขัน UCL ด้วยรถไฟแทน
นอกจากนี้ชาวเยอรมันก็เอาด้วย ในรายงาน YouGov ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2021 พบว่า ประชากรชาวเยอรมันจะสนับสนุนหากทางภาครัฐออกมาตราการที่คล้ายคลึงฝรั่งเศสนี้ เพื่อร่วมกันต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่มีข้อแม้ว่า พวกเขาต้องมีตัวเลือกในการเดินทางอื่น ๆ ด้วยเช่น เรือหรือรถไฟ
ถึงตรงนี้เป็นอย่างไรกันบ้าง กับวิถีชีวิตในอนาคตที่อาจเปลี่ยนไป หากมีการใช้พาสปอร์ตคาร์บอน (Carbon Passport) กันอย่างแพร่หลายจริง ๆ เราคงไม่ได้เดินทางไปเที่ยวที่ไหนก็ได้ตามอำเภอใจอีกต่อไป แต่จำเป็นต้องใช้โควตาคาร์บอนฯ ที่มีในมือให้คุ้มค่าที่สุด และไปในที่ที่อยากไปที่สุด
ที่มา: The Conversation
เนื้อหาที่น่าสนใจ