โลกร้อนหนักหน่วง งานวิจัยชิ้นใหม่ชี้ ธารน้ำแข็งสวิตเซอร์แลนด์ละลายแล้ว 10% ภายใน 2 ปี ขณะที่ธรรมชาติใช้เวลาปั้นสร้างขึ้นมาเป็นล้าน ๆ ปี จนตอนนี้แทบไม่เหลืออะไรให้ได้สำรวจ
หลายคนอาจแย้งว่า 2 ปีก็นานอยู่นะ และน้ำแข็งละลายคงไม่เป็นไรหรอก แต่จะบอกว่าเป็น และเป็นวิกฤตใหญ่มาก ๆ ด้วย
การวิเคราะห์โดย Swiss Academy of Sciences พบว่า 4% ของปริมาณธารน้ำแข็งทั้งหมดของสวิตเซอร์แลนด์หายไปในปีนี้ ซึ่งถือว่าเป็นการหายไปและการลดลงของปริมาณธารน้ำแข็งประจำปีที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ รองจากปี 2022 ซึ่งได้ลดลงไปถึง 6% เป็นการละลายของน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกมาในประวัติศาสตร์มนุษย์
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า สภาพอากาศที่พังทลาย ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นสาเหตุหลักของฤดูร้อนและฤดูหนาวที่ผิดปกติอันเกิดขึ้นทั่วโลก และที่กระทบหนักสุดคือหิมะ ที่มีปริมาณต่ำกว่าปกติ และเกิดการละลายแบบเร็วจี๋ โดยในช่วงฤดูร้อนปี 2565 ถึงปี 2566 ที่ผ่านมา เราสูญเสียน้ำแข็งไป เท่ากับการละลายของน้ำแข็งระหว่างปี 2503 ถึง 2533 หรือ 30 ปี
สิ่งที่บ่งบอกชัดกว่านั้น คือ นักสำรวจหยุดสำรวจกันแล้ว เนื่องจากไม่มีน้ำแข็งหลงเหลือให้สำรวจ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเริ่มกลับสถาบันหรือบ้านเกิดกันไปบ้างแล้ว เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ธารน้ำแข็งบางแห่งละลาย ซึ่งแห้งจนไม่มีอะไรให้ได้สำรวจอีกต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ยุโรปร้อนทุบสถิติสี่เดือนติด ปี 66 ขึ้นแท่นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์
UN เตือนน้ำทะเลรุกกำลังทำอู่ข้าวโลกจมน้ำ คนนับพันล้านเสี่ยงอดอยาก
Matthias Huss หัวหน้าของกลุ่มสำรวจธารน้ำแข็ง Glamos ในสวิตเซอร์แลนด์กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และหากเรายังเป็นแบบนี้ทุก ๆ ปี มันก็จะเลวร้ายกว่านี้ หากอยากให้อัตราของน้ำแข็งที่สูญเสียไปกลับฟื้นคืนมา เราจำเป็นต้องหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
สุดท้ายนี้ แม้ว่าโลกจะสามารถควบคุมอุณหภูมิไม่ให้สูงเกินกว่าระดับยุคก่อนอุตสาหกรรมได้ นั่นคือ 1.5 องศาเซลเซียส แต่ปริมาณน้ำแข็งในสวิตเซอร์แลนด์จะยังคงลดลงอยู่ดี และคาดว่าจะเหลือเพียง 1 ส่วน 3 เท่านั้น คนรุ่นต่อไปอาจจะไม่ได้เห็นธารน้ำแข็งแบบนี้อีกแล้ว
ที่มาข้อมูล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง