svasdssvasds

สัญญาณโลกร้อน! กระทบป่าบนเทือกเขาสูง หลายพันธุ์พืชเสี่ยงสูญพันธุ์

สัญญาณโลกร้อน! กระทบป่าบนเทือกเขาสูง หลายพันธุ์พืชเสี่ยงสูญพันธุ์

สภาวะโลกร้อนกำลังทำให้ชนิดพันธุ์ไม้ในป่าแถบเทือกเขาสูงทั่วโลก ตั้งแต่เทือกเขาแอลป์ในอิตาลีไปจนถึงดอยหลวงเชียงดาวในไทย เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หลังทีมนักวิจัยพบว่าอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ผลักพืชเมืองหนาวบนยอดเขาสูงให้สูญพันธุ์

อากาศเปลี่ยนแปลงทำให้พืชพันธุ์เปลี่ยนไป

นับเป็นอีกหนึ่งผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว ภายหลังทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบัน Euro-Mediterranean Center on Climate Change Foundation (CMCC) เปิดเผยหลังจากทำการวิจัยสำรวจสายพันธุ์พืชที่กระจายตัวในป่าบริเวณเทือกเขาแอลป์ทางตอนเหนือของอิตาลี พบว่า สายพันธุ์พืชในป่ากำลังเปลี่ยนแปลงไป โดยพบว่าขอบเขตกระจายพันธุ์พืชชอบอากาศหนาวกำลังถอยร่นขึ้นเขาสูงขึ้นเรื่อยๆ

Sergio Noce หนึ่งในนักวิจัยจาก CMCC ที่อยู่ในทีมชุดสำรวจ เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพป่าเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถือเป็นเรื่องปกติ หากแต่การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มักกินเวลาในการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างช้า เนื่องจากป่าต้องใช้เวลาในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศใหม่นานกว่ามนุษย์ แต่การเปลี่ยนแปลงในขณะนี้ถือว่ารวดเร็วมาก จนเสี่ยงทำให้พืชพันธุ์หลายชนิดปรับตัวไม่ทัน

“แม้ว่าผืนป่าในอิตาลี ซึ่งขณะนี้กินพื้นที่ประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศ กำลังมีแนวโน้มที่จะขยายเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามผืนป่าในอิตาลี โดยเฉพาะแถบเทือกเขาแอลป์กำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างมากจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งจากภัยแล้ง ไฟป่า และการหดหายของการกระจายพันธุ์พืชเมืองหนาวที่สาหัสยิ่งขึ้นเรื่อยๆ” Noce กล่าว

ภูมิประเทศแถบเทือกเขาสูงในยุโรป เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน

เขากล่าวว่า ในจำนวนพืชพันธุ์ที่กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง พืชเขตหนาวที่มีถิ่นกระจายพันธุ์บนเทือกเขาสูงกำลังเผชิญความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูงสุด เนื่องจากถิ่นกระจายพันธุ์ที่เหมาะสมของพืชเหล่านี้ในพื้นที่หนาวเย็นบนยอดเขาสูงกำลังหดเล็กลงจากอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

Noce อธิบายว่า เมื่ออากาศในภูมิภาคร้อนขึ้น พืชต่างๆ ที่ชอบอากาศหนาวเย็นเริ่มขยับขึ้นเขาสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเบียดพื้นที่ที่ถิ่นพืชที่พบเฉพาะบนเทือกเขาสูงให้หายไปในที่สุด

นอกจากนี้ เขายังกล่าวว่า ในป่าที่ฐานตีนเขาก็กำลังพบความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน โดยพืชอย่าง สน Maritime pine ที่ชอบอากาศอบอุ่นกำลังขยับขึ้นมากลายเป็นพืชหลัก อย่างไรก็ตาม สน Maritime pine นี้ก็เป็นพืชที่ติดไฟง่ายมาก ทำให้ป่าทั้งผืนตกในความเสี่ยงไฟป่าสูงขึ้น

 

ถิ่นสุดท้ายพืชยุคน้ำแข็ง ดอยหลวงเชียงดาวก็เสี่ยงเช่นกัน

ไม่เพียงแต่อิตาลีเท่านั้นที่กำลังพบกับความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในระบบนิเวศป่าบนเทือกเขาสูง แต่ปรากฎการณ์นี้กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงที่ประเทศไทยด้วย

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ คุณหมอนักอนุรักษ์จาก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ดอยหลวงเชียงดาว ยอดเขาหินปูนที่สูงสุดอันดับสามของไทย ซึ่งเป็นบ้านให้กับระบบนิเวศป่าแบบ semi-alpine เพียงไม่กี่แห่งในไทย ก็กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงร้ายแรงจากภัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นกัน

กล้วยไม้บนยอดดอยเชียงดาว  ที่มาภาพ: เพจดอยหลวงเชียงดาว

“ดอยหลวงเชียงดาวเป็นเขตที่ถือได้ว่าเป็น biodiversity hotspot ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของไทย เพราะมีพืชพันธุ์เฉพาะถิ่นที่ไม่สามารถหาที่ไหนได้กว่า 200 ชนิด ซึ่งปรับตัวให้อยู่กับอากาศหนาวและชุ่มชื้น บนยอดดอยหลวงเชียงดาว พืชเหล่านี้ถือเป็นพืชพันธุ์ที่เหลือรอดมาจากยุคน้ำแข็ง ในสมัยที่พืชเหล่านี้มีถิ่นกระจายพันธุ์ทั่วไป แต่เมื่ออากาศอุ่นขึ้นหลังสิ้นสุดยุคน้ำแข็ง ยอดเขาสูงที่มีอากาศเย็นจึงเป็นแหล่งพึ่งพิงสุดท้ายของพืชเหล่านี้” นพ.รังสฤษฎ์ กล่าว

“ดังนั้น เมื่ออากาศโลกอุ่นขึ้นไปอีกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้พืชเหล่านี้เข้าใกล้ความเสี่ยงสูญพันธุ์มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออากาศที่อุ่นขึ้นทำให้ฐานเมฆที่เป็นแหล่งหล่อเลี้ยงความชื้นให้กับป่าเมฆยอดดอยลอยตัวสูงขึ้น ทิ้งให้พื้นที่กระจายพันธุ์ของพืชยุคน้ำแข็งเหล่านี้ร้อนและแล้งขึ้น จนตกอยู่ในความเสี่ยงไฟป่า”

เขากล่าวว่า ไฟป่าที่รุนแรงและลุกลามมาถึงถิ่นกระจายพันธุ์พืชเขตหนาวบนยอดดอยหลวงเชียงดาวอาจทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพของพืชพื้นถิ่นที่หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้วที่นี่ต้องพบจุดจบ เพราะป่าเมฆบนยอดดอยเชียงดาวไม่ได้วิวัฒนาการมาให้อยู่ทนคู่กับวงจรไฟป่าเช่นเดียวกับป่าเต็งรังตีนดอย ดังนั้นเมื่อสภาพภูมิอากาศร้อนขึ้นและแห้งแล้งขึ้น ไฟป่าจะยิ่งเกิดรุนแรงขึ้น นำมาสู่จุดจบของป่าเมฆดอยเชียงดาว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ภาพปกจาก: Rungsrit Kanjanavanit

related